คำถาม :  รั้วชุมชนป้องกันยาเสพติด รูปแบบ PAVARANA MODEL
รายละเอียด : ในสภาวการณ์ปัจจุบัน ปัญหาด้านยาเสพติดได้เคลือบคลานเข้ามาสู่ทุกหมู่บ้าน/ชุมชน อย่างต่อเนื่องและแพร่กระจายมากขึ้นอย่างรวดเร็ว จากปัญหาดังกล่าว เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนทุกคนซึ่งคลุกคลีอยู่กับคนในชุมชน ได้เล็งเห็นและตระหนักถึงความสำคัญในการที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาของชุมชนให้รอดพ้นภัยคุกคามจากยาเสพติดดังนั้น ท่านพัฒนาการจังหวัดกระบี่ (นายแนบ สินทอง) จึงได้เกิดแนวคิดในการสร้างพลังชุมชนให้เป็นรั้วของชุมชนที่สามารถป้องกันภัยที่เกิดขึ้นในชุมชนได้อย่างยั่งยืน คือแนวคิดที่เรียกว่า “PAVARANA MODEL”

แนวคิดดังกล่าว เป็นรูปแบบหนึ่งที่ต้องการให้สมาชิกในชุมชนไม่ต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวไม่ต้องเสี่ยงภัยเพียงลำพัง และไม่ต้องการให้ไปรบกับใคร เพียงแต่ต้องการให้เสริมภูมิคุ้มกันตนเองให้มากขึ้น โดยวิธีการสร้างเครือข่ายป้องกันอย่างแน่นหนา มิให้สิ่งแปลกปลอมใด ๆ เข้ามาได้ หากมีสิ่งแปลกปลอมใด ๆ เข้ามาก็จะส่งสัญญานบอกให้รู้กันได้ทั้งชุมชนโดยอัตโนมติ เฉกเช่นเมื่อมีแมลงบินชนตาข่ายใยแมงมุม ก็จะกระเทือนทั่วทั้งตาข่าย ส่งสัญญาณให้แม่แมงมุมเข้าจัดการได้

การสร้างเครือข่ายโดยทั่ว ๆ ไป อาจเป็นเครือข่ายโดยสมัครใจบ้าง โดยการบังคับบ้าง แม้จะเป็นเครือข่ายกัน แต่ความผูกพันอาจมีน้อยและไม่กล้าที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวในเรื่องที่ค่อนข้างจะลับของคนอื่น แต่การเป็นเครือข่าย PAVARANA MODEL เป็นการสร้างเครือข่ายจากคนที่มีเป้าหมายเดียวกัน คนที่รู้จักคุ้นเคยกัน คนที่อยู่ในชุมชนเดียวกัน และมีความเสี่ยงต่อปัญหาเหมือน ๆ กัน และก่อนที่จะเป็นเครือข่ายต้องเปิดใจเข้าหากัน ปวารณาตัวเป็นผู้ดูแลซึ่งกันและกัน เหมือนเป็น “สายใยรัก” ต่อกัน
พิธีปวารณาโมเดลมีขึ้นเพื่อย้ำเตือนให้บุคคลเห็นคุณค่าของคำว่ากล่าวตักเตือน โดยไม่เพียงเปิดใจยอมรับคำตักเตือนเท่านั้น หากยังเชิญชวนให้ชี้แนะว่ากล่าวด้วย แม้เพียงแต่ระแวงสงสัยหรือแค่ได้ยินได้ฟังมาก็ตาม คนที่กล้าเกี่ยวข้องกับยาเสพติด คือ คนที่กล้าเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินทองหรือสิ่งที่ต้องการ เขาจึงมีทั้งอาวุธ อิทธิพล เครือข่าย สิ่งเหล่านี้สร้างความสะพรึงกลัวให้กับคนอื่น ๆ แม้จะรู้ จะเห็น หรือแม้แต่คนในครอบครัวนำพาเข้าไปยุ่งเกี่ยวก็กลัวตาย ไม่กล้าที่จะไปต่อกรกับคนเหล่านั้น ทั้ง ๆ ที่อยากกำจัดออกไปให้ก็ทำไม่ได้ ได้แต่หวังพึ่งทางราชการหรือผู้รับผิดชอบที่จะเข้ามาจัดการให้กับเขา ดังนั้นการรวมตัวกันเป็นเกราะเป็น “รั้วชุมชน” เท่านั้นที่จะต่อกรกับมันได้ นั่นก็คือ รวมกันเราอยู่ แยกหมู่เราตาย

กระบวนการของ PAVARANA MODEL เป็นการนำเอาสิ่งต่อไปนี้มาประยุกต์เข้าด้วยกันแล้วจัดเป็นกระบวนการเดียวกัน คือ เทคนิคการจัดประชุมแบบ AIC, วิธีการทำ “มหาปวารณา” ในพระพุทธศาสนา, การปกป้องเชิดชูเกียรติสถาบันหลักของชาติ, การใช้ 7 ปัจจัยของโครงการรั้วชุมชนเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับหมู่บ้าน/ชุมชน และการประชาคมลับ มีขั้นตอน/กระบวนการดังนี้
P = Problem pointing ชี้ให้เห็นปัญหายาเสพติดที่ใกล้เข้ามาทุกขณะ
A = Apperciation ใช้เทคนิค AIC ให้ผู้อาวุโสเล่าความประทับใจ
V = Verify Group จับกลุ่มเพื่อนรักครัวเรือนใกล้ชิด
A = Allowance I ทำปวารณาครั้งที่1กลุ่มละ 4 ครัวเรือน
R = Re-verify แตกกลุ่มจากกลุ่มที่ 1 สร้างเครือข่าย
A = Allowance II ทำปวารณาครั้งที่ 2 (ทั้งหมู่บ้าน)
N = Networking สร้างเครือข่ายทุกระดับ/เลือกกรรมการรั้วชุมชน

A = Action ลงมือปฏิบัติ/ขยายเครือข่าย/ประชาคมลับ

ผลการขับเคลื่อน PAVARANA MODEL ได้รับรางวัลหน่วยงานที่มีประสบการณ์เด่นในการ "ปฏิบัติการประเทศไทยเข้มแข็ง ชนะยาเสพติดยั่งยืน ภายใต้ยุทธศาสตร์ 5 รั้วป้องกัน ระยะที่ 2" จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ได้รับการยอมรับจากคนในชุมชนผู้นำชุมชน คนทั่วไป ตลอดจนภาคีการพัฒนาทุกภาคส่วน มีการขยายผลการดำเนินงานตามแนวคิด PAVARANA MODEL ทั่วทุกหมู่บ้านในพื้นที่จังหวัดกระบี่และเป็นต้นแบบให้กับจังหวัดอื่นอีกด้วย

ผู้ถาม : สนง.พช.กระบี่
E-mail : cddkrabi@gmail.com
WebSite : http://www3.cdd.go.th/krabi
ส่งคำถามเมื่อ : วัน อังคาร ที่ 12 กรกฏาคม 2554   เวลา 23 นาฬิกา 32 นาที