คำถาม :  ฐานภาคใต้ปชป.น่าเป็นห่วง จับตา4จังหวัดชายแดนถูกตีแตก
รายละเอียด : โค้งสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้ง แต่ละพรรคต่างงัดกลยุทธ์ทุกอย่างที่มีออกมาใช้ ทั้งวิชาเทพวิชามารใครมีอะไรก็ต้องปล่อยของกันเต็มเหยียด เพราะไม่เช่นนั้นอาจต้องรอไปอีกนาน หากพ่ายแพ้การเลือกตั้ง แน่นอนว่าแต่ละภูมิภาคของประเทศ แต่ละพรรคก็มีฐานเสียงแตกต่างกันไป วันนี้เราจะมาเจาะพื้นที่ภาคใต้ซึ่งเป็นฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์กันว่า ขุมกำลังยังดีอยู่หรือไม่ท่ามกลางกระแสที่พรรคเพื่อไทยกำลังดีวันดีคืน



ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จากการตรวจสอบกระแสความนิยมของประชาชนในพื้นที่พบว่า การเลือกตั้งแบบเขต ตั้งแต่ จ.ชุมพร จนถึง จ.สงขลา รวม 10 จังหวัด ส.ส.เขตยังเป็นของพรรคประชาธิปัตย์ โดย เขต 1 ชุมพร คือ นายชุมพล จุลใส เขต 2 นายสราวุธ อ่อนละมัย เขต 3 นายธีระชาติ ปางวิรุฬรักษ์ จ.สุราษฎร์ธานี เขต 1 นายธานี เทือกสุบรรณ เขต 2 นางโสภา กาญจนะ เขต 3 นายเชน เทือกสุบรรณ เขต 4 นายสินิตย์ เลิศไกร เขต 5 นายธีรภัทร์ พริ้งศุลกะ น่าจะเป็นฝ่ายกำชัยเหนือคู่แข่ง



จ.นครศรีธรรมราช มี 9 เขต เขต 1 นายอภิชาติ ศักดิเศรษฐ์ เขต 2 น.ส.นริศรา อดิเทพวรพันธุ์ เขต 3 นายวิทยา แก้วภราดัย เขต 4 นายอภิชาติ การิกาญจน์ เขต 5 นายประกอบ รัตนพันธุ์ เขต 6 นายเทพไท เสนพงศ์ เขต 7 นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ เขต 8 นายสุรเชษฐ์ มาศดิตถ์ เขต 9 น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล ยังได้เข้าสภาโดยไม่เหนื่อยแรง



จ.ภูเก็ต มี 2 เขตเลือกตั้ง เขต 1 นางอัญชลี วานิช เทพบุตร เขต 2 นายเรวัติ อารีรอบ ทั้ง 2 เขต ถึงจะเจอคู่แข่งจากพรรคภูมิใจไทย ไล่ตามหลังมาติด ๆ แต่สุดท้าย จะแพ้ม้าตีนปลายอย่างผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์



ส่วน จ.ระนอง มี 1 เขตเลือกตั้ง นายวิรัช ร่มเย็น ยังมีคะแนนเสียงนำคู่แข่งจากทุกพรรค และจะวิ่งเข้าป้ายแบบม้วนเดียวจบ ส่วนที่ จ.พังงา มีเขตเดียว ซึ่ง นาง กัณตวรรณ ตันเถียร กุลจรรยาวิวัฒน์ ยังมีคะแนนนำพรรคคู่แข่ง แบบไม่มีลุ้น ส่วนที่ จ.กระบี่ ซึ่งมี 3 เขตเลือกตั้ง เขต 1 นายสาคร เกี่ยวข้อง เขต 2 นายสุชิน เอ่งฉ้วน เขต 3 นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล ยังน่าเข้าตามากกว่า



ที่ จ.ตรัง บ้านนายหัวชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ มีเขตเลือกตั้ง 4 เขต เขต 1 นพ.สุกิจ อัตโถปกรณ์ เขต 2 นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย เขต 3 นายสมชาย โล่สถาพรพิพิธ เขต 4 นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล ดูแล้วไม่น่ามีปัญหาในการรักษาตำแหน่งโดยไม่เหนื่อยแรง



เช่นเดียวกับที่ จ.สงขลา มีเขตเลือกตั้ง 8 เขต เขต 1 นายเจือ ราชสีห์ เขต 2 นายภิรพล ลาภาโรจน์กิจ เขต 3 นายวิรัตน์ กัลยาศิริ เขต 4 นายชัยวุฒิ ผ่องแผ้ว เขต 5 นายประพร เอกอุรุ เขต 6 นายถาวร เสนเนียม เขต 7 นายศิริโชค โสภา เขต 8 พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ ในพื้นที่ จ.สงขลา มีเพียงเขต 7 เขตเดียวที่การเลือกตั้งมีสีสัน เนื่องจาก พรรคเพื่อไทย ส่ง นายอัศวิน สุวิทย์ น้องชายของ นายนาราชา สุวิทย์ ลงชนกับ นายศิริโชค โสภา เจ้าของฉายา “วอลเปเปอร์” คงต้องตามลุ้นกันว่าจะเร่งแซง “วอลเปเปอร์” หรือไม่ ที่ไม่ค่อยลงพื้นที่ แต่อาศัยลมหายใจของทีมงานช่วยเหลือ



แต่สำหรับพื้นที่ที่น่าจับตามองคือ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เหลือ เริ่มจาก จ.ปัตตานี เขตที่ 1 พรรคประชาธิปัตย์ ส่ง นายอันวาร์ สาและ อดีต ส.ส.ซึ่งต้องแข่งกับ นายอรุณ เบ็ญจลักษณ์ พรรคภูมิใจไทย ซึ่งขณะนี้คะแนนของนายอรุณยังนำนายอันวาร์ เนื่องจากหัวคะแนนใหญ่ของนายอันวาร์ คือ นายสนิท นาแว ลงสมัคร ส.ส.ในนามพรรคมาตุภูมิ ทำให้เสียงของนายอันวาร์หายไป



เขต 2 เป็นเขตที่ อิสมาแอล เบญอิบรอฮีม ปชป. เหนื่อยน้อยที่สุด ส่วน เขต 3 ปชป.ไม่มีลุ้น เพราะเป็นการชิงที่ 1 ระหว่าง นายนิมุขตาร์ บาวา จากพรรคภูมิใจไทย และ นายอนุมิติ ซูสารอ จากพรรคมาตุภูมิ เขตเลือกตั้งที่ 4 เป็นอีกหนึ่งเขตที่ ปชป.ซึ่งส่ง นายซาตา อาแวกือจิ ลงแข่งขันกับ นายมุข สุไลมาน จากพรรคมาตุภูมิ และ นายสมมุติ เบ็ญจลักษณ์ จากพรรคภูมิใจไทย ซึ่งสุดท้ายแล้ว ส.ส.เขตนี้มวยเก๋าอย่าง นายมุข สุไลมาน มีภาษีดีกว่า



จ.ยะลา มี 3 เขตเลือกตั้ง เขต 1 น่าเป็นของ ประเสริฐ พงษ์สุวรรณศิริ แน่นอน เช่นเดียวกับ เขต 2 ที่ นายซูกาโน มะทา จากพรรคเพื่อไทย ซึ่งอาจจะเป็น ส.ส.หนึ่งเดียวของเพื่อไทยในภาคใต้ ส่วน เขต 3 ดูอย่างไร นายณรงค์ ดูดิง ปชป.ยังมีคะแนนเหนือกว่า นายบูฮารานูดิง อุเซ็ง จากเพื่อไทย ยกเว้นเพื่อไทยลงทุนแบบ “เทกระจาด” จึงจะชนะ



จังหวัดที่มีการแข่งขันรุนแรงที่สุดคือ จ.นราธิวาส เขต 1 ปชป.ส่ง นายเราอาเซ็ม เราจินามิง ลงแข่งกับ นายไพศาล ตอยิบ จากพรรคมาตุภูมิ โดยไพศาลเป็นลูกชายของนายอูมา ตอยิบ เป็นเจ้าของโรงเรียนเอกชนชื่อดัง ซึ่งทั้ง 2 มีโอกาสที่จะได้รับชัยชนะเท่ากันในขณะนี้



ส่วน เขต 2 ปชป.ส่งอดีต ส.ส.เก่า อย่าง นายสุรเชษฐ์ แวอาแซง แต่การกลับมาเป็น ส.ส.อีกครั้ง ไม่ง่าย เพราะต้องผ่านด่าน นายสมรรถ วาหลง พรรคมาตุภูมิ ซึ่งมีฐานคะแนนเดียวกัน เขต 3 เป็นอีกเขตที่ต้องมีการล้มช้าง เมื่อ ปชป.ส่ง นายรำรี มามะ พรรคมาตุภูมิส่ง นายนัจมุดดีน อูมา และชาติไทยพัฒนาส่ง นิอารีฟ เจตาภิวัฒน์ ในเขตนี้ นัจมุดดีน ยังมีคะแนนนำแค่เฉียดฉิว ส่วน เขต 4 อาจมีแชมป์ล้ม เมื่อ ปชป.ส่ง นายเจะอามิง โตะตาหยง ลงแข่งกับ นายวัชระ ยาวอหะซัน พรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งไม่ธรรมดาทั้งกระแสและกระสุน ใครแพ้ ชนะ ต้องตัดสินด้วยภาพถ่าย



ส่วน จังหวัดสตูล มี 2 เขตเลือกตั้ง เขต 1 นพ.อสิ มะหะมัดยังกี ปชป. ต้องหืดจับ เมื่อต้องสู้กับ นายธานินทร์ ใจสมุทร อดีตลูกหม้อเก่าของ ปชป. จากพรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งมีฐานคะแนนทับซ้อนกัน โอกาสที่ธานินทร์ จะล้มแชมป์ ยังพอมี ส่วน เขต 2 นายฮอซาลี ม่าเหร็ม น่าจะนอนมาแบบไม่มีเสียว



แม้ว่า ปชป.ยังสามารถรักษา ส.ส.เขตไว้ได้เป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นใน 4 จังหวัด ที่มีพรรคมาตุภูมิ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนาและ เพื่อไทยเบียดแทรก โดยประมาณไว้ว่า พรรคเพื่อไทยได้ 1 ที่นั่ง มาตุภูมิ 4 ที่นั่ง และชาติไทยพัฒนา 1-2 ที่นั่ง



แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ ปชป.จะเสียคะแนนปาร์ตี้ลิสต์จำนวนมากในภาคใต้ เนื่องจากพรรคภูมิใจไทย พรรคกิจสังคม พรรคเพื่อไทย พรรคแทนคุณแผ่นดิน พรรครักประเทศไทย เดินหาเสียงปาร์ตี้ลิสต์ได้เป็นกอบเป็นกำ ผสมกับการออกมา “โหวตโน” ของกลุ่มพันธมิตรฯ และรวมทั้งคนในพื้นที่ ซึ่งเบื่อ ผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ส่วนหนึ่ง และต้องการให้บทเรียน ปชป.ด้วยการกาในช่องไม่ประสงค์เลือกใคร จะทำให้ คะแนน ส.ส.เขต ลดต่ำลง เช่นเดียวกับคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ ที่หายไปจำนวนกว่า 500,000 คะแนน

http://www.facebook.com/note.php?created&¬e_id=220422434645189
ผู้ถาม : z
ส่งคำถามเมื่อ : วัน จันทร์ ที่ 20 มิถุนายน 2554   เวลา 7 นาฬิกา 57 นาที
คำตอบที่ 1
รายละเอียด :  ช่วยไม่ได้ ปชป. ทิ้งประชาชนเอง

ผู้ตอบ : ตึกร้างหลังงาน
ส่งคำตอบเมื่อ :  วันอังคาร 21 มิถุนายน 2554   เวลา 7 นาฬิกา 18 นาที
คำตอบที่ 2
รายละเอียด :  ปชป. ก็ไม่ได้แย่นะ ก็แค่กระบี่ตอนนี้มีบ่อนอิสระ เท่านั้นเอง

ผู้ตอบ : เท่านั้นเอง
ส่งคำตอบเมื่อ :  วันอังคาร 21 มิถุนายน 2554   เวลา 18 นาฬิกา 11 นาที
คำตอบที่ 3
รายละเอียด :  เออ สำหรับผมคิดว่าคนที่ vote no ไม่ผิดหรอครับเพราะมันเป็นสิทธิ์ของแต่ละคน แต่ผมคิดว่า vote no ไม่มีผลหรอกครับ และผมยังคิดอีกว่า vote no เหมือนคนสองคนที่ไปกินข้าว "คนแรกสั่งผัดกระเพา และคนที่สองก็บอกแม่ค้าว่าเอาเหมือนคนแรกครับ" คือจะบอกว่ายังไงการ vote no ก็จะไม่ได้เป็นคะแนนเสียงที่มากที่สุดอย่างแน่นอน และจะเป็นการลดคู่แข่งให้พรรคที่ได้คะแนนเสียงอันดับหนึ่ง และเป็นนัยที่จะบอกว่าเห็นด้วยกันพรรคที่ได้คะแนนเสียงข้างมาก ถึงคนที่vote no ไม่ได้คิดแบบนั้น แต่คนอื่นที่ไม่ได้vote no เค้าจะคิดแบบนั้น เหมือนกับการสั่งอาหารของคนสองคนนี้ vote noก็เหมือนคนที่ยอมรับและสั่งตามเค้าไป ผมคิดแบบนั้นนะครับ แต่อาจจะไม่ถูกก็ได้เพราะมันเป็นความคิดเห็นของผมคนเดียว และอีกอย่างเงินที่เราเสียภาษีให้รัฐตกคนละ48,000บ.ต่อปี ใช้สิทธิ์ของคุณให้คุ้ม ขอบคุณครับ

ผู้ตอบ : อืมนะ
ส่งคำตอบเมื่อ :  วันอังคาร 21 มิถุนายน 2554   เวลา 18 นาฬิกา 40 นาที