คำถาม :  สมาคมฯยางจี้รัฐตรึงราคา100บาท/กก.
รายละเอียด : สมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางฯจี้รัฐตรึงราคากลางยาง100บาทต่อกก. สร้างความเชื่อมั่นเกษตรกรก่อนราคาดิ่วเหว พร้อมระดมชาวสวนกระบี่จับเข่าคุยผู้ว่าฯถกมาตรการเร่งด่วน ด้านชาวสาวยางสงขลาดีเดย์ 17 มี.ค.บุกศาลากลางสงขลา จี้รัฐแก้ปัญหาน้ำยางราคาร่วงหนักจากกก.ละ 92 บาทเหลือ 70 บาทต่อกก. วอนรัฐตรึงราคากลางห้ามต่ำ 90 บาทต่อกิโลกรัม



(15 มี.ค.) นายบุญส่ง นับทอง อุปนายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์ราคายางที่ปรับราคาลงมาอย่างรุนแรงหลังจากที่เคยทำสถิติสูงสุด 181.90 บาทต่อกิโลกรัมเมื่อวันที่ 21 ก.พ. ที่ผ่านมา ปัจจุบันเหลือเพียง 82.90 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้เกษตรกรเริ่มตื่นตระหนักอย่างรุนแรงเนื่องจากราคายางไม่ควรจะต่ำกว่า100 บาทต่อกิโลกรัมตามความคาดหมายเบื้องต้น แม้ว่าผลของการปรับราคายางจะมาจากปัจจัยใดๆก็ตาม แต่ด้วยประสบการณ์และข้อมูลพื้นฐานที่เกษตรกรค่อนข้างมั่นใจคือราคากลางของยางก็น่าจะอยู่ประมาณ100 บาทต่อกิโลกรัม จนเมื่อเกิดภาวะผันผวนอย่างรวดเร็วและรุนแรงทำให้เกษตรกรเริ่มตระหนักถึงความเดือดร้อนที่จะเกิดขึ้น



ขณะเดียวกับรัฐบาลเองจำเป็นที่ต้องเข้ามาดูแลและแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับสถาบันเกษตรกร และภาคธุรกิจอุตสาหกรรมยางพารา เนื่องจากต้องยอมรับว่าราคายางที่ผันผวนอย่างแรงในครั้งนี้ ทำให้กลไกต่างๆในประเทศเริ่มพิการ ไม่สามารถกำหนดทิศทางและกลไกพื้นฐานได้อีก ซึ่งหากปล่อยไว้จะยิ่งทำให้สถานการณ์เกิดความรุนแรงมากขึ้น



นายบุญส่ง กล่าวอีกว่า ล่าสุดนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายยางแห่งชาติ ได้มีคำสั่งห้ามพ่อค้าส่งออกยางชั่วคราวเพื่อตรึงราคาอยู่ที่ 120 บาทขึ้นไป พร้อมกับเตือนเกษตรกรอย่ารีบขายยางรอจนกว่าราคายางจะปรับราคาสูงขึ้น พร้อมกับให้ธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมมือธนาคารพาณิชย์ปล่อยวงเงินเรา้พิเศษให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งทั้งหมดยังไม่มีความชัดเจนในรายละเอียด



"ในส่วนของสมาคมฯได้มีมติออกมาให้แต่ละจังหวัดที่เดือดร้อนเร่งสรุปแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อนำเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดับพื้นที่ เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์และร่วมกำหนดมาตรการ แนวทางและนโยบายต่างๆออกมาให้ชัดเจนที่สามารถนำไปสู่การปฎิบัติได้ก่อนเป็นอันดับแรกเพื่อป้องกันไม่ให้เกษตรกรระดับรากหญ้าสับสนในข้อมูลและตื่นตระหนกจนเกินเหตุเป็นการประวิงเวลาในช่วงที่รัฐบาลอยู่ระหว่างการอภิปรายจนกว่าจะแล้วเสร็จ โดยในส่วนของสมาคมฯในจ.กระบี่จะพบผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่พรุ่งนี้(16มี.ค.)" นายบุญส่ง กล่าว



ด้านนายสมาน ศิริภานนท์ เกษตรกรชาวสวนยาง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา และคณะกรรมการสมาคมสมาพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เปิดเยว่า เนื่องจากปัจจุบันราคายางพาราร่วงเร็วมาก ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยเดือดร้อนอย่างหนัก โดยล่าสุดราคาน้ำยางสดที่ขายในตลาดท้องถิ่นปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 77 บาทจากราคา 92 บาทต่อกิโลกรัมซึ่งต่างกันถึง16 บาทต่อกิโลกรัมในช่วงระยะเวลาเพียง 1 วัน ขณะที่บางพื้นที่พ่อค้าคนกลางกดราคารับซื้อเหลือเพียง 70 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น ทั้งนี้หากรอจะเข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และตัวแทนรัฐบาลในวันที่ 21 มี.ค.นี้เพื่อกดดันให้แร่งแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำคงจะไม่ทันการณ์



เนื่องจากในระดับพื้นที่ชาวสวนยางส่วนใหญ่จะเน้นขายน้ำยางสดเป็นหลักไม่ได้นำไปแปรรูปแต่อย่างใด ทำให้ต้องได้รับผลกระทบโดยตรงทันทีที่ราคาน้ำยางปรับลดลง จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการแก้ไขปัญหาโดยเร็ว โดยเฉพาะการเข้ามาแทรกแซงราคาน้ำยางให้อยู่ในระดับ90-100 บาทต่อกิโลกรัม



"จากการหารือกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนในระดับเบื้องต้นยืนยันที่จะเข้ายื่นหนังสือผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาเพื่อกดดันให้รัฐบาลเร่งรัดการแก้ขัญหาโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้คาดว่าจะมีเกษตรกรเข้าร่วมประมาณ 500 คน นอกจากนี้ยังได้รับการประสานกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรองค์กรต่างๆทั่วประเทศอยู่ระหว่างการเคลื่อนไหวกดดันหน่วยงานภาครัฐอย่างต่อเนื่อง โดยจะเริ่มจากระดับจังหวัดก่อนขยับสู่แนวทางการแก้ไขปัญหาระดับประเทศต่อไป"นายสมาน กล่าว



นายเพิก เลิศวังพง ประธานชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย จำกัด ( ชสยท.) เปิดเผยว่า ได้เรียกประชุมด่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องธุรกิจยางพาราทุกภาคส่วนเพื่อสรุปแนวทางการแก้ไขปัญหายางพาราตกต่ำยื่นต่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และตัวแทนรัฐบาลในวันที่ 21 มี.ค.นี้เพื่อกดดันให้แร่งแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำโดยเร็วที่สุด



โดยเฉพาะประเด็นที่รัฐบาลยกเลิกโครงการสนับสนุนสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางเพิ่มมูลค่าเพื่อแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ ตามมติคณะรัฐมนตรีซึ่งรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณ 8,000 ล้านบาท ซึ่งโครงการดังกล่าวจัดตั้งขึ้นมาเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางซึ่งโครงการฯได้ครบกำหนดวันที่ 31 ธ.ค.53 ที่ผ่านมา แต่รัฐบาลกลับไม่เห็นความสำคัญในการขอขยายระยะเวลาดำเนินการโครงการฯสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2555 ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากภาวะราคายางที่ตกต่ำอย่างรุนแรง



“ผลการยุติโครงการนี้มีส่งผลต่อจิตวิทยาด้านการตลาดทำให้เกิดความรู้สึกว่า รัฐบาลและเกษตรกรไม่มีงบประมาณที่จะสนับสนุนให้เก็บรักษายางไว้ได้ ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินที่มีผลต่อราคายางขึ้น เช่น เหตุการณ์ลิเบีย รวมถึงสึนามิที่ญี่ปุ่น ทำให้เกิดแรงเหวี่ยงที่มีผลต่อราคายางในประเทศทันทีซึ่งรัฐบาลจะต้องรับผิดชอบและแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน”นายเพิก กล่าว


ประธานชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ในวันที่ 17 มี.ค.นี้ตัวแทนเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ประมาณ 500 คนจะเดินทางไปยื่นหนังสือผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาเพื่อกดดันให้รัฐบาลเร่งรัดการแก้ขัญหาโดยเร็วที่สุด ก่อนที่จะระดมตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศเข้าพบนายกรัฐมนตรีในวันที่ 21 มี.ค.54 นี้อีกครั้ง

ที่มา - คมชัดลึก
ผู้ถาม : ก้องเกียรติ
WebSite : http://www.komchadluek.net/detail/20110315/91606/%
ส่งคำถามเมื่อ : วัน พุธ ที่ 16 มีนาคม 2554   เวลา 8 นาฬิกา 28 นาที