คำถาม :  วาระซ้อนเร้นอำมหิต !? แก้มาตรา 190 ปิดหูปิดตาประชาชน
รายละเอียด : รัฐบาลมี “เจตนาเล็งเห็นผล” ที่ต้องการแก้ไขมาตรา 190 เป็นหลัก ประเด็นอื่นนั้นเสนอเข้ามาเพื่อให้ได้ชื่อว่าเสนอแล้วเป็นสำคัญ

สั้น ๆ ง่าย ๆ นะครับ มาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งมีทั้งสิ้น 6 วรรค มีความก้าวหน้าอย่างยิ่ง

มีหนังสือสัญญา 2 ประเภทที่ต้องดำเนินการตามมาตรานี้

ประเภทหนึ่ง - หนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตารมหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา

ประเภทสอง – หนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรืทอสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศ อย่างมีนัยสำคัญ

หลักการใหญ่คือหนังสือสัญญาทั้ง 2 ประเภท ซึ่งเดิมบรรจุอยู่ในมาตรา 190 วรรคสอง จะต้องได้รับความเห็นชอบต่อรัฐสภา

นอกจากนั้นมาตรา 190 เดิมยังกำหนดรายละเอียดไว้ด้วยทุกขั้นตอนที่หนังสือสัญญาทั้ง 2 ประเภทจะต้องเดินตามไปอย่างเคร่งครัดทั้งก่อนและหลังลงนาม และมีกำหนดระยะเวลาในการพิจารณาของรัฐสภาไว้ด้วย ดังนี้

ก่อนลงนาม
1. ครม.ให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน (มาตรา 190 วรรคสาม)

2. ครม.ชี้แจงต่อรัฐสภา และเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภา (มาตรา 190 วรรคสาม)

หลังลงนาม
3. ก่อนแสดงเจตนาให้มีผลผูกพัน ครม.ต้องให้ประชาชนสามารถเข้าถึงรายละเอียดของหนังสือสัญญานั้น (มาตรา 190 วรรคสี่)

4. ในกรณีที่การปฏิบัติตามหนังสือสัญญานั้นก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนหรือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ครม.ต้องดำเนินการแก้ไขหรือเยียวยาอย่างรวดเร็ว เหมาะสม และเป็นธรรม (มาตรา 190 วรรคสี่)

กำหนดเวลา
5. รัฐสภาจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวัน

มาตรา 190 เดิมนั้น ในวรรคห้าได้กำหนดให้มีกฎหมายว่าด้วย “การกำหนดขั้นตอนและวิธีการจัดทำหนังสือสัญญา รวมทั้งการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญา” สำหรับหนังสือสัญญาประเภทสองเอาไว้

แนวคิดในการเสนอแก้ไขที่เป็นมารตั้งแต่ยุคคณะกรรมการสมานฉันท์ฯชุดส.ว.ดิเรก ถึงฝั่ง มาจนถึงยุค 102 ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล คือการแก้ไขวรรคห้าเพิ่มเติมคำว่า “ประเภทของสัญญา” เข้าไป เพราะเกิดความไม่ชัดเจนว่าหนังสือสัญญาประเภทไหนจึงจะเข้าข่ายหนังสือสัญญาประเภทสอง

ทำให้สังคมเห็นว่าพอรับได้ !

เพราะหนังสือสัญญาทั้ง 2 ประเภทยังจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไข 5 ประการเหมือนเดิม

ยกเว้นหนังสือสัญญาบางอย่างในประเภทสองที่จะหลุดไป หากการแก้รัฐธรรมนูญสำเร็จ และหนังสือสัญญาบางอย่างนั้นบังเอิญไม่อยู่ในการจำแนกประเภทของกฎหมายลูกที่จะออกมา

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร หนังสือสัญญาประเภทหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงอาณาเขตต้องผ่านกระบวนการครบทั้ง 5 เงื่อนไข !

ทว่าร่างฯแก้ไขมาตรา 190 ของครม.ครั้งนี้เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง

ท่านใช้ “แทคติคในการเขียนกฎหมาย” แยกหนังสือสัญญาทั้ง 2 ประเภทที่บัญญัติอยู่รวมกันในมาตรา 190 วรรคสอง ออกเป็น 2 วรรค

หนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยฯ...ยังอยู่ในมาตรา 190 วรรคสอง

หนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวางฯ...ถูกแยกในอยู่ในมาตรา 190 วรรคสาม ทำให้มาตรา 190 ของร่างฯแก้ไขนี้ขยายเป็น 7 วรรค

แล้วในวรรคต่อ ๆ มา (คือวรรคสามและวรรคสี่เดิม หรือวรรคสี่และวรรคห้าใหม่) ที่กำหนดเงื่อนไข 4 ประการแรกไว้ดันไปจงใจเขียนบังคับแต่เฉพาะหนังสือตามวรรคสาม คือสัญญาประเภทสองที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวางฯเท่านั้น

ตัดหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยฯออกไปจากเงื่อนไขบังคับปฏิบัติ 4 ประการ

นี่คือประเด็นหลักที่ผมเห็นว่าคือการหมกเม็ดครั้งยิ่งใหญ่ที่อำมหิตมาก !!

เพราะหากแก้ไขสำเร็จ หลอกหูหลอกตาสมาชิกรัฐสภาให้คิดว่าเป็นเรื่องแก้ไขเล็กน้อยได้ จะทำให้...

หนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยฯ แม้ว่าจะยังถูกบังคับให้ “ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา” อยู่ แต่ก็ไม่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขเดิมทั้ง 4 ประการ

1. ไม่ต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

2. ไม่ต้องชี้แจงต่อรัฐสภา และไม่ต้องเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภา

3. แสดงเจตนาให้มีผลผูกพันได้เลย ไม่ต้องให้ประชาชนสามารถเข้าถึงรายละเอียดของหนังสือสัญญานั้น

4. ในกรณีที่การปฏิบัติตามหนังสือสัญญานั้นก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนหรือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ก็ไม่ต้องดำเนินการแก้ไขหรือเยียวยาอย่างรวดเร็ว เหมาะสม และเป็นธรรม

เรื่องแบบนี้รัฐบาลเคยชี้แจงมั้ย ?

หากรัฐบาลไม่มีวาระซ่อนเร้นจะเสนอร่างแก้ไขฯนี้เข้ามาให้แตกต่างไปจากร่างฯเดิมของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯชุดส.ว.ดิเรก ถึงฝั่ง และร่างฯแก้ไขของ 102 ส.ส.ทำไม ??

ถ้ารัฐบาลจงใจจะแยกหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตฯออกไปให้พ้นหูพ้นตาพ้นความรับรู้ของประชาชน ทำไมไม่ใช้ความกล้าหาญชี้แจงเหตุผลอย่างตรงไปตรงมา เปิดให้มีการอภิปรายตรงประเด็นอย่างกว้างขวาง เพราะนี่คือการแก้ไขหลักการใหญ่ที่ถอยหลังตกคลอง ??

ผู้ถาม : ตอบหน่อย
ส่งคำถามเมื่อ : วัน พฤหัสบดี ที่ 25 พฤศจิกายน 2553   เวลา 17 นาฬิกา 34 นาที
คำตอบที่ 1
รายละเอียด :  เป็นสัญญานอันตราย น่ากลัวมาก หากได้คนไม่ดีไม่รักแผ่นดินไทยเป็นรัฐบาล ความเดือดร้อนจะเกิดกับคนไทยแน่นอน คอนเฟริมส์

ผู้ตอบ : อินเดียน่าโจนส์
ส่งคำตอบเมื่อ :  วันศุกร์ 26 พฤศจิกายน 2553   เวลา 8 นาฬิกา 30 นาที