สรุปแผนการตลาดการท่องเที่ยว ปี 2551
นอกจากข่าวประชาสัมพันธ์ ข่าวทั่วไป ท่านสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารส่วนราชการในจังหวัด ได้จาก ประกาศจังหวัด

กรอบแนวคิดของแผนการตลาดการท่องเที่ยว แผนการตลาดการท่องเที่ยวของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในปี 2551 ดำเนินการภายใต้กรอบนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ ดังนี้

1) กรอบนโยบายรัฐบาล ซึ่งต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือมุ่งเน้นพัฒนาการท่องเที่ยวให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพ เน้นการนำเสนอเอกลักษณ์วัฒนธรรมไทย ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และธรรมชาติ

2) กรอบนโยบายของคณะกรรมการ ททท. ซึ่งได้ให้ความสำคัญต่อบทบาทของการท่องเที่ยว เพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต ของประชาชนทั่วทุกภูมิภาค เป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยส่งเสริมให้การท่องเที่ยวเติบโตอย่างยั่งยืนภายใต้ความเข้มแข็งของ Brand ประเทศไทย และจะต้องสร้างสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สร้างสรรค์ประโยชน์ต่อสังคม ภายใต้จิตสำนึกของการรักษาสิ่งแวดล้อม และความภูมิใจในชาติ

3) กรอบยุทธศาสตร์การส่งเสริมการท่องเที่ยวในระยะ 5 ปี ของ ททท. คือ มุ่งเน้นพัฒนาการท่องเที่ยวให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพ เน้นการนำเสนอเอกลักษณ์วัฒนธรรมไทย ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และธรรมชาติ เพื่อให้การท่องเที่ยวสามารถพัฒนาไปได้อย่างยั่งยืน และสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก

เป้าหมายตำแหน่งทางการตลาด
ให้ประเทศไทยเป็น “แหล่งท่องเที่ยวคุณภาพที่หลากหลาย ให้ประสบการณ์ที่ทรงคุณค่า และประทับใจ” โดยนำเสนอจุดแข็งด้านการท่องเที่ยวของไทย ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมความต้องการของนักท่องเที่ยว

เป้าหมายทางการตลาด
เน้นการส่งเสริมตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพ มุ่งเน้นรายได้มากกว่าจำนวนนักท่องเที่ยว
- ตลาดในประเทศ มีรายได้หมุนเวียนภายในประเทศ 385,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2
- ตลาดต่างประเทศ รายได้จำนวน 600,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10

กลุ่มเป้าหมาย
ตลาดต่างประเทศ เน้นนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคหลัก ๆ เช่น ภูมิภาคยุโรป ภูมิภาคเอเชียตะวันออก (Key Markets) และตะวันออกกลางเป็นหลัก โดยดำเนินการรักษาฐานตลาดเดิม ประมาณ 21 ตลาด และบุกตลาดใหม่ (Emerging Markets) คือ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย รัสเซียและ CIS กลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก ตะวันออกกลาง (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์. และซาอุดิอารเบีย) ซึ่งแม้ว่าตลาดเหล่านี้จะมีฐานตลาดขนาดเล็ก แต่มีแนวโน้มการเติบโตสูงมาก

สินค้าทางการท่องเที่ยว
เพื่อสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งให้กับ Brand “Amazing Thailand” ที่ ททท. ต้องการจะตอกย้ำและสร้างความแตกต่างที่เหนือกว่าคู่แข่ง การนำเสนอสินค้าและบริการท่องเที่ยวสู่ตลาดโลก ในปีนี้ จึงนำเสนอในลักษณะรวมกลุ่มของสินค้า และสร้าง Theme ให้กับแต่ละกลุ่ม เพื่อสื่อถึงประสบการณ์ต่างๆ ที่นักท่องเที่ยวจะได้รับ และเกิดความ “Amazing” ต่อประเทศไทย จากจุดแข็งของสินค้าที่มีอย่างหลากหลาย โดย ททท.จะนำเสนอจุดแข็งของสินค้าประเทศไทยเป็น 7 กลุ่ม หรือ 7 แนวทางที่จะสร้างความสุขให้กับนักท่องเที่ยวในปี 2551

7 Amazing Products 7 แนวทางสร้างความสุข

1.วิถีไทย “หัวใจแผ่นดิน” (The World’s Friendliness Culture) สื่อถึงความเป็นตัวตนของคนไทย วิถีชีวิตที่เป็นรากเหง้า ที่มีความเรียบง่าย สงบ เป็นเสน่ห์ของไทย และทำให้ประเทศไทยมีความต่างที่เหนือชั้นกว่าคู่แข่งอื่นๆ กลุ่มของสินค้าที่ ททท. จะนำเสนอเพื่อสะท้อนแนวคิด ก็เช่น แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม อาหารไทย เทศกาลประเพณี และแหล่งท่องเที่ยววิถีชีวิตต่างๆ เช่น รำไทย มวยไทย แกะสลักผัก ผลไม้ ดำนา ทำนา

2.มรดกแห่งแผ่นดิน (Land of Heritage and History) นำเสนอกลุ่มสินค้าด้านวัฒนธรรมไทย ที่สร้างความภูมิใจในความเป็นชาติและพร้อมที่จะอวดสู่สายตาชาวโลก กลุ่มสินค้าเหล่านี้ เช่น สถานที่ซึ่งเป็นมรดกโลก แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ สถานที่ท่องเที่ยวทางศาสนา รวมไปถึงพิพิธภัณฑ์ต่างๆ

3.หลากหลายทะเลไทย (Sun Surf and Serenity) ความแตกต่างที่หลากหลายของทะเลไทย สามารถสร้างความสุข และตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวได้ทุกรูปแบบ เช่น พัทยา หัวหิน ภูเก็ต กระบี่ สมุย

4.ชีวิตร่วมสมัย ความสุขใจที่แตกต่าง (Your Senses with Unique Trends) นำเสนอกลุ่มสินค้าบริการที่สอดคล้องตามกระแสนิยม หรือ In Trend ซึ่งเป็นจุดขายด้วยรูปแบบที่ทันสมัย แปลกตาในแนว Chic, Hip, Modern ทั้งร้านอาหาร แหล่งช้อปปิ้ง บูติคโฮเต็ล เช่น อินดิโก้เพิร์ล พาวิลเลี่ยนสมุย ซีรอคโค เวอร์ติโก้ ฯลฯ

5.รักษ์ ห่วงใย ใส่ใจธรรมชาติ (The Beauty of Natural Wonders) สร้างความตระหนักในคุณค่าของสิ่งแวดล้อม ด้วยรูปแบบกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศ Green Tourism การท่องเที่ยวแบบประหยัดพลังงาน เพื่อให้นักท่องเที่ยวยอมรับประเทศไทยในฐานะผู้ที่ห่วงใยธรรมชาติ และเกิดความเข้าใจคุณค่าของการเป็นผู้ห่วงใยสิ่งแวดล้อม เช่น เขื่อนภูมิพล จักรยานเสือภูเขานานาชาติ ดำน้ำเก็บขยะ ปลูกปะการังใต้น้ำ พังงาสวยด้วยมือเรา ผจญภัยหัวใจสีเขียว เยาวชนรุ่นใหม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

6.สุขภาพนิยม (The Beauty of Wellness and Wellbeing) ให้ความสำคัญต่อสุขภาพทางกายและทางใจ เช่น สปา สมาธิ การแพทย์ที่ทันสมัย

7.เทศกาลความสุข สีสันหรรษา (The Land of Year Round Festivities) กิจกรรมท่องเที่ยวที่ ควบคู่ไปกับความสนุกสนาน รื่นเริง และความบันเทิง โดยนำเอางานเทศกาลระดับโลกและระดับนานาชาติต่างๆ เป็นตัวดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยว และสื่อมวลชนต่างชาติ เช่น กอล์ฟจอห์นนี่ วอล์คเกอร์ คลาสสิค กอล์ฟรอยัล โทรฟี่ ภูเก็ตรีกัตต้า เป็นต้น

กลยุทธ์การส่งเสริมตลาดต่างประเทศ
• สร้างความเข้มแข็งให้แบรนด์ “ประเทศไทย”
• ขยายตลาดกลุ่มคุณภาพ
• รักษาส่วนแบ่งทางการตลาด (โดยรักษาฐานตลาด Leisure และส่งเสริมการเดินทางซ้ำ)
• เสริมสร้างศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน

แนวทางการดำเนินงานตลาดต่างประเทศ
เน้น “การส่งเสริมตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพ มุ่งเน้นรายได้มากกว่าจำนวนนักท่องเที่ยว” โดยประยุกต์ใช้สื่ออิเลคทรอนิคส์ร่วมสมัยในการทำตลาด E-Marketing ควบคู่ไปกับการทำตลาดในลักษณะดั้งเดิม (Traditional) ในการสร้างการรับรู้ประเทศไทย ขยายตลาดไปสู่กลุ่มเป้าหมายที่มีคุณภาพ และรักษาฐานตลาดเดิม ผ่านเครือข่ายพันธมิตรที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวเก่า ในลักษณะของ Word of Mouth การทำ Tactical Campaign และทำแพคเกจพิเศษเสนอขายผ่านร้านอาหาร สายการบิน บริษัทนำเที่ยว ฯลฯ รวมถึงการเข้าร่วมงาน Trade Show และ Road Show

กลยุทธ์การส่งเสริมตลาดในประเทศ
- รณรงค์ให้เกิดการรู้ค่า รักษาแหล่งท่องเที่ยว
- ส่งเสริมการท่องเที่ยวในมิติของการเรียนรู้
- สร้างกระแสให้การท่องเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
- สร้างการรับรู้ความเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่
- ส่งเสริมการเดินทางเชื่อมโยงในภูมิภาคและระหว่างภูมิภาค

แนวทางดำเนินงานด้านตลาดในประเทศ
ภายใต้การเปลี่ยนแปลงด้านสังคมและพฤติกรรมของผู้บริโภค ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงด้าน สิ่งแวดล้อม รวมทั้ง การน้อมรับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การดำเนินงานด้านตลาดในประเทศ ในปี 2551 จึงให้ความสำคัญกับการสร้างความสมดุล ทำ 2 มิติ คือ มิติทางสังคม โดยจะเน้นการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและการเป็นเจ้าบ้านที่ดี รวมทั้ง ส่งเสริมให้การท่องเที่ยวเป็นกระบวนการเรียนรู้สำหรับคนไทย เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ ความรักและหวงแหนในทรัพยากรของชาติ และมิติทางเศรษฐกิจ โดยกระจาย รายได้จากการท่องเที่ยวภายในประเทศไปสู่พื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ
หน่วยงานที่แจ้งประชาสัมพันธ์
ศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่
14 ส.ค. 50 6:06:18 PM

ข่าวอื่นๆที่เกี่ยวข้องในหมวด ท่องเที่ยว


แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม
ข้อตกลง  ขอความกรุณาใช้ถ้อยคำสุภาพ และแสดงออกในเชิงสร้างสรรค์ และมีเหตุผล ขอสงวนสิทธิ์ ในการแก้ไข หรือ ตัดรายการ หรือ ข้อความที่ ไม่เหมาะสมออก โดยไม่ต้องชี้แจง
ชื่อ/Email
ความคิดเห็น