“อันดามัน”พร้อมรับมือ”สึนามิ”มีทั้งหอเตือนภัย-ทุ่นตรวจจับแผ่นดินไหว
นอกจากข่าวประชาสัมพันธ์ ข่าวทั่วไป ท่านสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารส่วนราชการในจังหวัด ได้จาก ประกาศจังหวัด

ศูนย์ข่าวภูเก็ต -“สึนามิ”เป็นโศกนาฏกรรมร้ายแรง ที่ทำลายล้างชีวิตและทรัพย์สินอย่างไม่ปรานี แต่ “สินามิ” ก็เป็นภัยที่รู้ล่วงหน้าและป้องกันได้ เพราะเมื่อเกิดแผ่นดินไหว "คลื่นสึนามิ " ต้องใช้เวลาในการเดินทางเข้าหาฝั่ง หากหวังจะมีชีวิตรอดก็ต้องใช้เวลาในการเตรียมความพร้อม

ฉะนั้นการเตือนภัยล่วงหน้าจึงเป็นสิ่งจำเป็น รวมถึงการวางแผนอพยพผู้คนไปอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัย ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียจากคลื่นยักษ์สึนามิได้

การจัดตั้งระบบเตือนภัยล่วงหน้าจึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น รัฐบาลไทยในช่วงที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากคลื่นยักษ์สึนามิ พัดถล่มอันดามัน แล้ว ต้องการที่จะให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการจัดตั้งระบบเตือนภัยล่วงหน้าคลื่นยักษ์สึนามิในระดับภูมิภาค เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักท่องเที่ยวและประชาชน ที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลอันดามัน จึงได้จัดตั้งศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติและติดตั้งหอเตือนภัยในพื้นที่เสี่ยงตามแนวชายฝั่งทะเลอันดามันทั้ง 6 จังหวัด ตั้งแต่ ระนอง ภูเก็ต พังงา กระบี่ สตูล และตรัง โดยเริ่มติดตั้งหอเตือนภัยล่วงหน้า 3 หอ ที่บริเวณหาดป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต โดยบริษัท Sircom และบริษัท Kockum Sonic บริจาคให้กับศูนย์ เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ สร้างเสร็จเมื่อช่วงช่วงปลายเดือนเมษายน 2548

หลังจากนั้น ได้มีการขยายการติดตั้งในพื้นที่ชายฝั่งอันดามัน ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยสึนามิจนครบทุกพื้นที่จำนวน 79 หอ นอกจากนั้นยังมีการขยายในพื้นที่ฝั่งอ่าวไทยและจังหวัดต่างๆที่มีพื้นที่เสี่ยงอื่นๆอีก

สำหรับหอเตือนภัยล่วงหน้าที่มีการติดตั้งในพื้นที่ฝั่งอันดามัน มีการทดสอบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีบางครั้งที่หอเตือนภัยไม่มีเสียงสัญญาณเตือน ซึ่งจากการทดสอบครั้งล่าสุดในส่วนของจังหวัดภูเก็ตพบว่ามีหอเตือนภัย 2 แห่ง ในพื้นที่ หาดกะรน และอ่าวฉลอง อ.เมืองภูเก็ต ที่ไม่มีเสียงสัญญาณ ซึ่งขณะนี้ได้รับการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ในส่วนของหอเตือนภัยในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ก็เคยประสบปัญหาคนร้ายลักลอบตัดสายเคเบิลเพื่อนำไปขายมาแล้ว

หอเตือนภัยกระบี่ยังเชื่อมสัญญาณไม่ได้

สำหรับการติดตั้งหอเตือนภัยในกระบี่ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ก็ได้เข้ามาสร้างหอเตือนภัยในพื้นที่ประสบภัย จำนวน 12 หอ เพื่อไว้ใช้ในการส่งสัญญาณเตือนใน อ.เมือง อ.เหนือคลอง และอ.เกาะลันตา ใช้งบประมาณในการก่อสร้างประมาณกว่า 20 ล้านบาท ต่อมาจังหวัดกระบี่ มองวเห็นว่ายังไม่ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงภัย
จึงได้จัดสร้างเองเพิ่มเติมอีกจำนวน 20 หอ ใช้งบประมาณ 32 ล้านบาท ครอบคลุมพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง เหนือคลอง อ่าวลึก เกาะลันตา และคลองท่อม ซึ่งหลังจากสร้างเสร็จก็ได้ขอเชื่อมสัญญาณกับศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ปรากฏว่าทางศูนย์เตือนภัยไม่ยอมเชื่อมต่อสัญญาณให้ เนื่องจากอุปกรณ์ไม่ตรงกัน

ต่อมาจังหวัดกระบี่ ได้รับงบประมาณ 20 ล้านบาท จากกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย ทำการปรับปรุงอุปกรณ์ให้หอเตือนภัยสามารถที่จะเชื่อมต่อสัญญาณกับศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติได้ คาดว่าจะแล้วเสร็จตามสัญญาประมาณเดือนมีนาคม ปี 53 จึงจะใช้งานได้ ซึ่งตอนนี้ก็มีเพียง 12 หอเท่านั้น ที่ใช้งานได้ตามปกติ นอกจากการเตือนภัยจากหอเตือนภัยแล้ว

จังหวัดก็ยังมีช่องทางระบบ SMS แจ้งเตือนภัยได้ตลอด 24 ชั่วโมงอีกด้วย ถึงแม้ว่าหอเตือนภัย จำนวน 20 หอข้างต้น อยู่ระหว่างการปรับปรุงก็ตาม ก็สามารถเตือนภัยได้ครอบคลุมเข้าถึง และรวดเร็วเช่นเดียวกัน

พังงาเสียงเบาเกือบ 50 %-ระนองเพิ่มอีก 4 หอ

อย่างไรก็ตาม สำหรับในส่วนของจังหวัดพังงา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์สึนามิถล่มมากที่สุดมีการติดตั้งหอเตือนภัยล่วงหน้าจำนวน 18 หอ สร้างเสร็จแล้ว แต่มีปัญหาเรื่องของเสียงแจ้งเตือนภัยที่ดังเบามาก ซึ่งจากการตรวจสอบและทดลองเปิดเสียงสัญญาณในการซ้อมปรากฏว่ามีเสียงเบาเกือบ 50% ขณะนี้หน่วยงานในระดับจังหวัดได้แจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขแล้ว

ส่วนการติดตั้งหอเตือนภัยล่วงหน้าเพิ่มในส่วนของจังหวัดพังงา มีเป้าหมายที่จะเพิ่มจุดติดตั้งอีกกว่า 10 แห่งเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ ขณะที่จังหวัดระนอง การติดตั้งหอเตือนภัยล่วงหน้าดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว 9 หอ และจะติดตั้งเพิ่มอีก 4 หอ เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงภัย

ไอทีซีติดตั้งทุ่นตรวจจับแผ่นดินไหวเพิ่ม-เปลี่ยนทุ่นใหม่

สำหรับการป้องกันภัยสึนามิ นอกจากจะมีหอเตือนภัยล่วงหน้าแล้วสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือเครื่องมือที่จะใช้สำหรับการตรวจวัดคลื่นแผ่นดินไหวที่จะทำข้อมูลมาประเมินก่อนที่จะมีการประกาศเตือนประชาชน ล่าสุด ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สนับสนุนงบประมาณในการจัดซื้อทุ่นตรวจจับสึนามิ จำนวน 47 ล้านบาทไปติดตั้งที่มหาสมุทรอินเดีย แทนทุ่นตัวเก่าที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งมั่นใจว่าทุ่นดังกล่าวจะสามารถแจ้งข้อมูลแผ่นดินไหวได้ภายใน 1 นาที และสามารถแจ้งเตือนประชาชนอพยพได้ภายใน 5 นาทีหลังเกิดแผ่นดินไหว

นอกจากนั้นในปี 2553 กระทรวงไอซีทีมีแผนที่จะติดตั้งทุ่นอีก2 ตัวซึ่งได้ประกวดราคาจ้างไปแล้ว สำหรับจุดที่จะติดตั้งทุ่นนั้นอยู่ห่างจากหมู่เกาะสุรินทร์ประมาณ 260 กิโลเมตร หรือประมาณ 130 ไมล์ทะเล ส่วนจุดที่ 2 อยู่ห่างจากเกาะภูเก็ตประมาณ 248 กิโลเมตร หรือประมาณ 124 ไมล์ทะเล อย่างไรก็ตาม การติดตั้งทุ่นลอยน้ำลึกทั้ง 2 จุดอาจปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมของลักษณะพื้นท้องทะเลด้วย

สำหรับคุณสมบัติของทุ่นลอยน้ำลึกนี้ จะมีขีดความสามารถในการ วิเคราะห์และส่งสัญญาณเตือนโดยอัตโนมัติไปที่ศูนย์ควบคุม ซึ่งติดตั้งไว้ที่ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติภายในเวลา 5 นาที หลังจากคลื่นระลอกแรกกระทบทุ่นส่วนในสถานการณ์ปกติทุ่นลอยน้ำลึก จะสามารถส่งข้อมูลการตรวจจับคลื่นสึนามิผ่านระบบสื่อสารดาวเทียมไปยังศูนย์เตือนภัยฯ ได้ทุก ๆ 6 ชั่วโมง

ซ้อมหนีภัยสึนามิทุกปี

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการตอกย้ำความมั่นใจของประชาชนและนักท่องเที่ยวให้ยิ่งขึ้นไป ของการเตรียมความพร้อมของประชาชนและนักท่องเที่ยวในการรับมือกับเหตุโศกนาฏกรรมสึนามิในส่วนของจังหวัดต่างๆ ได้จับให้มีการซ้อมอพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อทำให้ประชาชนมีความตื่นตัวในการเตรียมความพร้อมอยู่ตลอดเวลาแม้ว่าจะไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นก็ตาม

ทั้งหมดนี้คือ...การพยายามที่จะลดความสูญเสีย และสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น ซึ่งหวังกันว่าในอนาคตเมื่อมหันตภัยร้ายสึนามิมาเยือนอีกครั้ง จะไม่เกิดความสูญเสียและสร้างความบอบช้ำให้อันดามันเฉกเช่นที่ผ่านมาอีก


ที่มา ผู้จัดการออนไลน์ 23 ธันวาคม 2552 10:56 น.
หน่วยงานที่แจ้งประชาสัมพันธ์
สำนักงานจังหวัดกระบี่
23 ธ.ค. 52 12:09:14 PM

ข่าวอื่นๆที่เกี่ยวข้องในหมวด ท่องเที่ยว


แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม
ข้อตกลง  ขอความกรุณาใช้ถ้อยคำสุภาพ และแสดงออกในเชิงสร้างสรรค์ และมีเหตุผล ขอสงวนสิทธิ์ ในการแก้ไข หรือ ตัดรายการ หรือ ข้อความที่ ไม่เหมาะสมออก โดยไม่ต้องชี้แจง
ชื่อ/Email
ความคิดเห็น