เกษตรจังหวัดกระบี่อบรมเกษตรกรตามโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปาล์มน้ำมันเพื่อรองรับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้าอาเซียน
นอกจากข่าวประชาสัมพันธ์ ข่าวทั่วไป ท่านสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารส่วนราชการในจังหวัด ได้จาก ประกาศจังหวัด

เกษตรจังหวัดกระบี่อบรมเกษตรกรตามโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปาล์มน้ำมันเพื่อรองรับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้าอาเซียน

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2556 นายสมศักดิ์ กิตติธรกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ เป็นประธานเปิดอบรมเกษตรกรตามโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปาล์มน้ำมันเพื่อรองรับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้าอาเซียน ณ ห้องประชุมช้างเผือก องค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ อ.เมือง จ.กระบี โดยมีนายประคอง อุสาห์มัน หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ กล่าวรายงาน
นายประคอง อุสาห์มัน หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ กล่าวว่าจังหวัดกระบี่เป็นจังหวัดที่มีการปลูกปาล์มน้ำมันมากที่สุดของประเทศ ซึ่งปาล์มน้ำมันเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญที่สร้างรายได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดและมีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต มีพี่น้องเกษตรกรที่ปลูกปาล์มน้ำมันมากกว่า 25,000 ครัวเรือน มีเกษตรกรที่ปลูกปาล์มน้ำมันตั้งแต่ 2 ไร่ จนถึงผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทมหาชนมีพื้นที่ปลูกมากว่า 10,000 ไร่ มีแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับปาล์มน้ำมันและองค์ความรู้ด้านปาล์มน้ำมันที่ครบวงจรที่จังหวัดกระบี่ ที่พร้อมจะให้เกษตรกรผู้ประกอบการทั้งในและต่างจังหวัดได้เข้ามาเรียนรู้จนอาจจะเรียกได้ว่าเมื่อกล่าวถึงปาล์มน้ำมันจะต้องนึกถึงจังหวัดกระบี่
ปัญหาที่สำคัญประการหนึ่งในกระบวนการผลิตปาล์มน้ำมันของจังหวัดกระบี่ หรือในระดับประเทศ ปัญหาแรก คือ ในเรื่องพันธุ์ปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรก ๆ ที่จะต้องพิจารณาให้ได้ต้นพันธุ์ที่ดี เพื่อนำไปปลูกในแปลง ซึ่งถือเป็นก้าวแรกของการทำสวนปาล์มน้ำมันเพื่อให้ได้ผลผลิตต่อไร่ที่สูง ซึ่งถ้าหากเกษตรกรไม่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ก็เท่ากับว่าเป็นการเริ่มต้นที่ผิดพลาดและจะส่งผลต่อการให้ผลผลิตของปาล์มน้ำมันไปไม่น้อยกว่า 25 ปี เพราะฉะนั้นเกษตรกรจะต้องมีองค์ความรู้ในเรื่องของการคัดเลือกพันธุ์ และหาแหล่งต้นพันธุ์ที่เชื่อถือได้นำไปปลูกในแปลง ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรมีผลผลิตเพิ่มขึ้นปัญหาประเด็นที่สองในเรื่องของการจัดการสวนที่ถูกต้องปาล์มน้ำมันเป็นพืชอายุยาว ดังนั้นในการบริหารจัดการสวนปาล์มจะต้องดำเนินการอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ เพราะหากมีการบริหารจัดการผิดพลาดไปในช่วงแรกก็จะส่งผลต่อการให้ผลผลิตในช่วงต่อไปของปาล์มน้ำมัน โดยเฉพาะในเรื่องของปุ๋ย ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะปาล์มน้ำมันต้องการปุ๋ยในปริมาณที่มากกส่าพืชชนิดอื่น ซึ่งพบว่าค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ยมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เป็นต้นทุน ซึ่งสาเหตุที่ปาล์มน้ำมันต้องการปุ๋ยในปริมาณมาก เนื่องจากปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่ให้ผลผลิตทั้งปี ประเด็นที่สามในเรื่องของการเก็บเกี่ยวปาล์มน้ำมันที่ไม่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญมาก ทุกท่านอาจจะมองข้ามและไม่เห็นถึงความสำคัญ ซึ่งในปัจจุบันผลผลิตปาล์มสดที่เกษตรกรผลิตได้จากสวนเมื่อนำไปสกัดน้ำมันปาล์มดิบจะได้น้ำมันปาล์มดิบเฉลี่ยเพียง 15 – 17 % หรือปาล์มน้ำมัน 100 กิโลกรัมสกัดน้ำมันปาล์มดิบได้เพียง 15 – 17 กิโลกรัม ซึ่งโดยศักยภาพของพันธุ์ปาล์มน้ำมันที่มีอยู่ในปัจจุบันเปอร์เซ็นต์น้ำมันดิบควรจะอยู่ในระดับ 19 -20 เปอร์เซ็นต์หรือมากกว่า
ความสูญเสียตรงนี้อาจจะเกิดจากหลาย ๆ ปัจจัย เช่น พันธุ์ปาล์มน้ำมันที่ไม่ได้คุณภาพ การดูแลรักษาที่ขาดประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ปัจจุบันได้มีการวิจัย และพัฒนาจนกระทั่งอยู่ในระดับที่น่าพอใจ พันธุ์ปาล์มน้ำมันที่ผลิตในปัจจุบันสามารถที่จะให้ผลผลิตมากกว่า 4 ตัน/ไร่ เปอร์เซ็นต์น้ำมันมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ หากปลูกในพื้นที่เหมาะสมและมีการบริหารจัดการที่ดี
อย่างไรก็ตามการฝึกอบรมเกษตรกรตามโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปาล์มน้ำมันเพื่อรองรับการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน ที่สำคัญที่สุดก็คือ จิตสำนึกและความร่วมมือของทุกฝ่ายที่จะพัฒนาเพื่อต่อสู้กับประเทศคู่แข่ง โดยการบริหารจัดการที่ดี รวมทั้งพยายามที่จะเน้นการเพิ่มองค์ความรู้ให้แก่ตนเองและหาแนวทางในการทำสวนปาล์มน้ำมัน เพื่อให้จังหวัดกระบี่เป็นเมืองแห่งปาล์มน้ำมันต่อไป
หน่วยงานที่แจ้งประชาสัมพันธ์
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดกระบี่
20 ก.พ. 56 10:02:37 AM

ข่าวอื่นๆที่เกี่ยวข้องในหมวด สังคม


แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม
ข้อตกลง  ขอความกรุณาใช้ถ้อยคำสุภาพ และแสดงออกในเชิงสร้างสรรค์ และมีเหตุผล ขอสงวนสิทธิ์ ในการแก้ไข หรือ ตัดรายการ หรือ ข้อความที่ ไม่เหมาะสมออก โดยไม่ต้องชี้แจง
ชื่อ/Email
ความคิดเห็น