สำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่ส่งเสริมให้เกษตรกรชาวสวนยางเพิ่มผลผลิตและประสิทธิภาพการป้องกันกำจัดโรคยางพาราโดยชีววิธี
นอกจากข่าวประชาสัมพันธ์ ข่าวทั่วไป ท่านสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารส่วนราชการในจังหวัด ได้จาก ประกาศจังหวัด

สำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่ส่งเสริมให้เกษตรกรชาวสวนยางเพิ่มผลผลิตและประสิทธิภาพการป้องกันกำจัดโรคยางพาราโดยชีววิธี

นายวีระศักดิ์ เกิดแสง เกษตรจังหวัดกระบี่ เปิดเผยว่า ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งของจังหวัดกระบี่ ปัจจุบันจังหวัดกระบี่มีเกษตรกรที่ปลูกยางพารากว่า 33,000 ครัวเรือน พื้นทีปลูกยางกว่า 900,000 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ยที่ได้ 317 กิโลกรัมต่อไร่ เกษตรกรชาวสวนยางพาราส่วนใหญ่จะพึ่งพารายได้จากผลผลิตยางพาราเป็นหลัก ซึ่งในปัจจุบันผลผลิตที่ได้มีความไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศ และราคาผลผลิตยางพาราก็มีความผันผวน รวมทั้งประสิทธิภาพการผลิตยังต่ำเมื่อเทียบกับจังหวัดใกล้เคียง เนื่องจากเกษตรกรยังขาดความรู้ในการจัดการเพื่อให้ได้ผลผลิตที่สูง ประกอบกับประสบปัญหาการระบาดของโรคยางพารา และยังขาดการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ว่างระหว่างแถวยางพาราในการสร้างรายได้ ทำให้เกษตรกรสูญเสียโอกาสที่จะเพิ่มรายได้ จึงมีความจำเป็นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้ามาแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ทางสำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่จึงได้จัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและเพิ่มรายได้ในสวนยางพาราเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาการระบาดโรคยางพารา โดยใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา ซึ่งเป็นเชื้อราชั้นสูงที่ดำรงชีวิตอยู่ในดิน อาศัยเศษซากพืช ซากสัตว์และอินทรียวัตถุเป็นแหล่งอาหาร เจริญได้รวดเร็วบนอาหารเลี้ยงเชื้อราหลายชนิด สร้างเส้นใยสีขาวและผลิตส่วนขยายพันธุ์ที่ เรียกว่า “โคนิเดีย” หรือ “สปอร์” จำนวนมากรวมเป็นกลุ่มหนาแน่นจนเห็นเป็นสีเขียว เชื้อราไตรโคเดอร์มาเป็นศัตรู (ปฏิปักษ์) ต่อเชื้อราสาเหตุโรคพืชหลายชนิดโดยวิธีการเบียดเบียน หรือเป็นปรสิต และแข่งขันหรือแย่งใช้อาหารที่เชื้อโรคต้องการ นอกจากนี้เชื้อราไตรโคเดอร์มายังสามารถผลิตปฏิชีวนสาร และสารพิษ ตลอดจนน้ำย่อยหรือเอนไซม์สำหรับช่วยละลายผนังเส้นใยของเชื้อโรคพืช คุณสมบัติพิเศษของเชื้อราไตรโคเดอร์มาคือ สามารถช่วยละลายแร่ธาตุให้อยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืช จึงช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชและชักนำให้ต้นพืชมีความต้านทานต่อเชื้อโรคพืชทั้งเชื้อราและแบคทีเรียสาเหตุโรค
การสร้างรายได้เพิ่มในสวนยางพารา ก็สามารถทำได้ซึ่งการปลูกยางพาราให้ประสบผลสำเร็จสูงสุดนั้นจะต้องปฏิบัติดูแลสวนยางเป็นอย่างดีทุกระยะ ไม่ว่าจะช่วงเริ่มต้นที่ยางเล็กหรือยางใหญ่ที่กรีดเอาน้ำยางแล้ว โดยเฉพาะยางเล็กก่อนปลูกหรือหลังปลูกยางไปแล้ว ในระหว่างแถวยางที่ว่างควรจะปลูกพืชคลุมดินเพราะจะทำให้ต้นยางเจริญเติบโตได้ดีกว่า แต่เจ้าของสวนยางบางรายอาจมีความจำเป็นที่จะหารายได้มาจุนเจือครอบครัว เพราะผลผลิตจากต้นยางพาราต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปีครึ่ง ฉะนั้นในช่วง 3 ปีแรกที่ต้นยางยังเล็กอยู่ก็สามารถปลูกพืชต่างๆลงไปในระหว่างแถวยางพารา พืชที่ปลูกลงไปนั้นเรียกว่า พืชแซมยาง สามารถทำได้เพราะยางพาราเป็นพืชที่มีระยะการปลูกที่กว้างในสวนยางที่ปลูกใหม่จึงมีพื้นที่ว่างในระหว่างแถวให้วัชพืชขึ้นได้ประมาณสองในสามของพื้นที่ปลูก อาจเป็นหลายพันตาราเมตรในปีแรกและค่อยๆลดลงเมื่อเกิดร่มเงาในสวนยาง การปลูกพืชแซมในระหว่างแถวยางจึงเป็นวิธีการควบคุมวัชพืชทางอ้อม นอกจากนี้พืชแซมยังช่วยเสริมรายได้ให้กับชาวสวนในช่วง 3 ปีแรกและยังเป็นการใช้พื้นที่สวนยางให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดด้วยการเพิ่มผลผลิตต่อหน่วยพื้นที่ให้สูงขึ้น เหมาะกับพื้นที่ปลูกยางขนาดเล็ก อีกทั้งปุ๋ยที่ใส่ให้พืชแซมยังเป็นประโยชน์ต่อต้นยางพาราอีกด้วย และเศษซากพืชหลังเก็บเกี่ยวผลิตยังช่วยคลุมดินไม่ให้วัชพืชงอกได้ระยะหนึ่ง ซากพืชเมื่อสลายตัวจะเป็นปุ๋ยบำรุงดินเป็นวิธีชะลอความเสื่อมโทรมของดินที่ง่ายที่สุดพืชแซมที่นำมาปลูกใหม่ระหว่างแถวยางควรปลูกตั้งแต่เริ่มปลูกยางใหม่ๆ จนยางอายุ 3 ปี แต่ไม่ควรเกิน 4 ปี พืชแซมที่ใช้ปลูกในสวนยางพารา เช่นสับปะรด ข้าวโพด กล้วยหอมทอง ผักเหมียง มันปู ประกอบกับจังหวัดกระบี่เป็นเมืองท่องเที่ยวผลไม้ที่นักท่องเที่ยวนิยมรับประทานและเป็นที่ต้องการของตลาดมากในจังหวัดท่องเที่ยวก็คือ กล้วยหอมและสับปะรด



หน่วยงานที่แจ้งประชาสัมพันธ์
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดกระบี่
27 ธ.ค. 55 9:20:23 AM

ข่าวอื่นๆที่เกี่ยวข้องในหมวด สังคม


แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม
ข้อตกลง  ขอความกรุณาใช้ถ้อยคำสุภาพ และแสดงออกในเชิงสร้างสรรค์ และมีเหตุผล ขอสงวนสิทธิ์ ในการแก้ไข หรือ ตัดรายการ หรือ ข้อความที่ ไม่เหมาะสมออก โดยไม่ต้องชี้แจง
ชื่อ/Email
ความคิดเห็น