เกษตรจังหวัดกระบี่เตือนเกษตรชาวสวนปาล์มเฝ้าระวังการระบาดของด้วงแรด
นอกจากข่าวประชาสัมพันธ์ ข่าวทั่วไป ท่านสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารส่วนราชการในจังหวัด ได้จาก ประกาศจังหวัด

เกษตรจังหวัดกระบี่เตือนเกษตรชาวสวนปาล์มเฝ้าระวังการระบาดของด้วงแรด

นายวีระศักดิ์ เกิดแสง เกษตรจังหวัดกระบี่ เปิดเผยว่าในช่วงนี้ได้มีการระบาดของด้วงแรดในปาล์มน้ำมัน จึงขอประกาศเตือนให้พี่น้องเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันในพื้นที่จังหวัดกระบี่โดยเฉพาะเกษตรกรที่โค่นล้มปาล์มเก่าเพื่อปลูกใหม่ ให้เฝ้าระวังการระบาดของด้วงแรด โดยการติดตามเพื่อตรวจสอบแปลงปลูกปาล์มน้ำมันอย่างสม่ำเสมอ และหากพบการระบาดให้รีบกำจัดทันที โดยลักษณะการทำลายของด้วงแรด ตัวเต็มวัยบินขึ้นไปกัดเจาะโคนทางใบทำให้ทางใบหักง่ายและกัดเจาะทำลายยอดอ่อนทำให้ทางใบที่เกิดใหม่ไม่สมบูรณ์ มีรอยขาดเป็นริ้ว คล้ายรูปสามเหลี่ยม ถ้าโดนทำลายมากๆ ทำให้ใบที่เกิดใหม่แคระแกร็น รอยแผลที่ถูกด้วงแรดกัดเป็นเนื้อเยื่ออ่อน ทำให้ด้วงงวงมะพร้าวเข้ามาวางไข่หรือเป็นทางให้เกิดโรคยอดเน่า จนถึงตายได้ในที่สุด แหล่งขยายพันธุ์ของด้วงแรด จะพบในซากเน่าเปื่อยของลำต้นหรือตอของต้นปาล์มน้ำมัน ซากทะลายปาล์มน้ำมัน กองมูลสัตว์เก่าหรือกองปุ๋ยคอก แหล่งขยายพันธุ์เหล่านี้เป็นสถานที่ผสมพันธุ์ วางไข่และเป็นแหล่งอาหารของหนอนวัยต่างๆ จนเข้าเป็นดักแด้และตัวเต็มวัย
เกษตรจังหวัดกระบี่เปิดเผยต่อไปว่า สำหรับแนวทางการป้องกันกำจัดด้วงแรด ขอให้เกษตรกรดำเนินการกำจัดแหล่งขยายพันธุ์ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุด ลงทุนน้อย สะดวกในการทำเพราะอยู่บนพื้นดิน สามารถกำจัดไข่หนอน ดักแด้และตัวเต็มวัยไม่ให้เพิ่มปริมาณได้ โดยยึดหลักว่าไม่ควรปล่อยให้แหล่งขยายพันธุ์เหล่านี้ทิ้งไว้นานเกิน 3 เดือน โดย เผาหรือฝังซากลำต้นหรือตอของต้นปาล์มน้ำมัน เกลี่ยกองซากพืช กองมูลสัตว์ให้กระจายออกโดยมีความสูงไม่เกิน 15 ซม. ถ้ามีความจำเป็นต้องกองนานเกินกว่า 2-3 เดือน ควรพลิกกลับกองเพื่อตรวจหาไข่หนอน ดักแด้และตัวเต็มวัยเพื่อกำจัด ใช้เชื้อราเขียวควบคุมด้วงแรด โดยทำกองปุ๋ยหมักล่อซึ่งอาจใช้ปุ๋ยหมัก เศษพืช อินทรีย์วัตถุ หรือมูลสัตว์ มากองไว้ล่อให้ตัวเต็มวัยของด้วงแรดมาวางไข่ ให้มีขนาดกว้าง 1-2 เมตร ยาว 1-2 เมตร ลึกประมาณ 1 ศอก จำนวน 4-5 กอง ต่อเนื้อที่ปลูกปาล์มน้ำมัน 10 ไร่ ใส่เชื้อราเขียวประมาณ 500-1,000 กรัมต่อกอง ใส่ให้ลึกจากผิวหน้าด้านบนประมาณ 1 คืบ โดยโรยเชื้อราให้ทั่วหน้าหรือบริเวณแถวก็ได้ แล้วรดน้ำให้ชุ่ม หรือใช้เชื้อรามาละลายน้ำแล้วใช้บัวรด ปิดด้วยใบหรือทางปาล์มน้ำมัน เพื่อเก็บความชื้นในกองปุ๋ยหมัก เชื้อราจะเจริญเติบโตอยู่ในกองปุ๋ยหมักเมื่อด้วงแรดลงมาวางไข่จนถูกเชื้อราเข้าทำลายหนอน ดักแด้ โดยจะมีลำตัวสีเขียวคล้ำและตายในที่สุด ใช้สารคลอโรไพริฟอด อัตรา 80 มล.ต่อน้ำ 20 ลิตร ราดรอบยอดอ่อนและโคนทางถัดมา ต้นละ 1 ลิตร เดือนละ 1 ครั้ง หรือใช้สารคาร์บาริล ผสมขี้เลื่อยในอัตรา 1 ส่วน ต่อขี้เลื่อย 33 ส่วน ใส่รอบยอดอ่อน ซอกทางใบ เดือนละ 1 ครั้ง หรือใช้ลูกเหม็น อัตรา 6-8 ลูกต่อต้น โดยใส่ไว้ที่ซอกโคนทางใบ
ทั้งนี้ หากพบการระบาดทำลายของด้วงแรดดังกล่าวแจ้งการระบาดได้ที่อาสาเกษตรหมู่บ้านศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่เพื่อให้คำแนะนำและช่วยเหลือต่อไป
หน่วยงานที่แจ้งประชาสัมพันธ์
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดกระบี่
28 พ.ย. 55 8:30:51 AM

ข่าวอื่นๆที่เกี่ยวข้องในหมวด สังคม


แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม
ข้อตกลง  ขอความกรุณาใช้ถ้อยคำสุภาพ และแสดงออกในเชิงสร้างสรรค์ และมีเหตุผล ขอสงวนสิทธิ์ ในการแก้ไข หรือ ตัดรายการ หรือ ข้อความที่ ไม่เหมาะสมออก โดยไม่ต้องชี้แจง
ชื่อ/Email
ความคิดเห็น