|
ททท. จัดอบรม การตลาดสมัยใหม่ เส้นทางสู่ความสำเร็จ เพื่อการท่องเที่ยวไทยยั่งยืน
เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2554 ณ โรงแรมพีชลากูน่า รีสอร์ท แอสด์สปา จังหวัดกระบี่ นายอักกพล พฤกษะวัน ที่ปรึกษาระดับ 11 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เป็นประธานเปิดโครงการอบรมการตลาดท่องเที่ยวสมัยใหม่ การตลาดสมัยใหม่ เส้นทางสู่ความสำเร็จ เพื่อการท่องเที่ยวไทยยั่งยืน โดยมีหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนในพื้นที่ภูมิภาคตะวันตกเข้าร่วมอบรม 100 คน มีกำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 16 -17 มิถุนายน 2554
นายอักกพล พฤกษะวัน ที่ปรึกษาระดับ 11 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ททท. เล็งเห็นว่าการตลาดในยุคปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมไปอย่างรวดเร็ว จากยุคของการให้ความสำคัญของผลิตภัณฑ์เป็นหัวใจหลัก เข้าสู่ยุคเทคโนโลยีสารสนเทศที่เป็นการตลาดมุ่งเน้นลูกค้า และสู่การตลาดผลักดันคุณค่า ดังนั้นการตลาดที่จะประสบความสำเร็จได้นั้น จะต้องสร้างสรรค์และนำเสนอรูปแบบการแข่งขันใหม่ที่มีลักษณะเฉพาะตัว สร้างความแตกต่างจากคู่แข่งขันเพื่อสร้างสรรค์โอกาสทางการตลาด ปรับกลยุทธ์ให้ทันสมันด้วยกลวิธีใหม่ ๆ สำหรับธุรกิจการท่องเที่ยวในปัจจุบันต้องเผชิญกับการแข่งขันทางการตลาดที่รุนแรง ททท. ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจึงได้ดำเนินการจัดกิจกรรมการสัมมนาและการอบรมให้ความรู้การตลาดการท่องเที่ยว เป็นการติดอาวุธและสร้างพันธมิตรทางการตลาดให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่นำรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศมาสู่ประเทศ ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศ ทำให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการท่องเที่ยว และการดำเนินการตลาดท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว ในประเทศของตนให้มากขึ้น
นายอักกพล พฤกษะวัน ที่ปรึกษาระดับ 11 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจึงได้กำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินงานส่งเสริมการตลาดไว้ 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่
1. การส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างมีสมดุลในมิติทางสังคม สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัจจุบันสังคมโลกให้ความสำคัญกับการลดภาวะโลกร้อน การอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อรักษาไว้ซึ่งทรัพยากรทางการท่องเที่ยวอันทรงคุณค่าของประเทศไทย
2. การเพิ่มการเติบโตของรายได้จากการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งหมายถึง การรักษาส่วนแบ่งตลาด การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าการท่องเที่ยวและเพิ่มความพึงพอใจของนักท่องเที่ยว เพื่อทำให้นักท่องเที่ยวยังคงประทับใจและกลับมาเยี่ยมเยือนเมืองไทยซ้ำแล้วซ้ำอีก
3. การสร้างแบรนด์ประเทศไทยให้แข็งแกร่งและชัดเจน ทั้งการฟื้นฟูภาพลักษณ์ยกระดับความเชื่อมั่น และกำหนดจุดขายที่แตกต่างอย่างชัดเจนจากคู่แข่ง เพื่อทำให้นักท่องเที่ยวเกิดการรับรู้ รู้จักและมีความต้องการเดินทางมาประเทศไทย
4. การพัฒนาการท่องเที่ยวตามแนวทางเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ทั้งการนำเสนอสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ๆ ต่อยอดและเพิ่มคุณค่าจากภูมิปัญญาไทย
5. การให้ความสำคัญกับการพัฒนาเครือข่ายและประสานความร่วมมือ ทั้งจากพันธมิตรคู่ค้า และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนและชุมชนท้องถิ่น
6. การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการองค์กร ทั้งระบบบริหารจัดการและศักยภาพบุคลากร ให้สามารถก้าวทันนวัตกรรมด้านการบริหารจัดการที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว และสามารถจัดการภาวะวิกฤติได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การดำเนินการทั้ง 6 ยุทธศาสตร์ที่กล่าวมานั้น จะนำมาสู่เป้าหมายที่จะวางตำแหน่งประเทศไทยให้เป็น แหล่งท่องเที่ยวคุณภาพที่หลากหลายให้ประสบการณ์ที่ทรงคุณค่าและน่าประทับใจต่อไป
|
หน่วยงานที่แจ้งประชาสัมพันธ์ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดกระบี่ 16 มิ.ย. 54 2:14:39 PM
|