กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ชงงบ กว่า 100 ล้าน ซื้อหนี้ให้เกษตรกร
รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ เลขาธิการ สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เปิดเผยระหว่างที่เดินทางไปเยี่ยมสมาชิกกองทุนฯที่จังหวัดกระบี่ ว่า กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเกิดขึ้นจากที่เกษตรกรเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาหนี้สินและปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำซึ่งเป็นปัญหาที่ยืดยื้อมานานไม่เฉพาะแต่ในปัจจุบันนี้ โดยกองทุนฯจะเข้าไปชำระหนี้แทนเกษตรกร ในรายที่มีหนี้อยู่ในสถาบันการเงิน ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และโอนมาไว้ที่กองทุนฯเมื่อเกษตรกรมีความสามารถก็ให้มาไถ่ถอนคืนไป โดยคิดดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 1 แทนที่ต้องจ่ายให้สถาบันการเงิน ในอัตราร้อยละ 10 หรือสูงกว่านั้น
กองทุนฯจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เกษตรกรไว้วางใจว่าจะเป็นองค์กรที่จะมาจัดการปัญหาต่างๆให้แก่เกษตรกร โดยมีเกษตรกรเข้าเป็นสมาชิกกองทุน ตั้งแต่ปี 43 จนถึงปัจจุบัน ทั่วประเทศ 6 ล้านคน และมีผู้มาแจ้งความประสงค์ขอให้กองทุนฯจัดการหนี้ให้กว่า 3 แสนราย โดยกองทุนสามารถจัดการซื้อหนี้เกษตรกรไปได้ 3,836 ราย สัญญา วงเงิน 533,201,859,69 บาท ซึ่งทั้งหมดเป็นหนี้ที่กำลังถูกเจ้าหนี้ดำเนินคดี ยึดทรัพย์ หรือขายทอดตลาด ซึ่งทางกองทุนฯสามารถรักษาที่ดินทำกินของเกษตรกรไว้ได้ขณะนี้ จำนวน 18,960 ไร่
เลขาธิการ สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร กล่าวอีกว่า สำหรับเป้าหมายในปี 52 จะวางระบบการจัดการหนี้และการฟื้นฟูอาชีพให้สอดคล้องกันมากขึ้น โดยผู้ที่ได้รับการจัดการหนี้ จำนวน 3,568 ราย จะต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู ซึ่งขณะนี้กองทุนฟื้นฟู ได้อนุมัติงบประมาณ จำนวน 168,597,204 บาท ให้แก่องค์กรเกษตรกร จำนวน 2,649 องค์กรเพื่อการฟื้นฟูอาชีพ สำหรับเกษตรกร จำนวน 277,984 ราย ซึ่งบประมาณก้อนแรกเป็นงบอุดหนุนเพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่องค์กรเกษตรกร และว่าในปีต่อไป( ปี53)จะเป็นเงินให้องค์กรเกษตรกรกู้ยืมเพื่อนำไปประกอบอาชีพตามแผนและโครงการที่องค์กรเกษตรกรเสนอมา ซึ่งทางกองทุนตั้งงบไว้ ประมาณ 450 ล้าน
สำหรับจังหวัดกระบี่ และภาคใต้ หนี้สินของเกษตรกร ที่ทางกองทุนฯต้องเข้าไปช่วยเหลือนั้น ถือว่าน้อยมากเมื่อเปรียบกับจังหวัดอื่นๆหรือภาคอื่นๆเนื่องจากเกษตรกรทางภาคใต้ ส่วนใหญ่จะปลูกพืชทางการเกษตรประเภทยืนต้น มีอายุนาน ไม่ต้องทำทุกปี หนี้สินจึงไม่พอกพูน ต่างกับเกษตรกรปลูกพืชล้มลุก เช่น ปลูกข้าว เมื่อปลูกมากบ่อยครั้งโอกาสจะเป็นหนี้ก็มีมาก เนื่องจากราคาในแต่ละปีไม่แน่นอน แต่อย่างไรก็ตามทางกองทุนฯก็จะเข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาทำการเกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้น มีกิน มีใช้ภายในครอบครัว ไม่ต้องซื้อ ส่วนที่เหลือก็แบ่งขายเป็นรายได้
|