องค์การสหประชาชาติ องค์การอนามัยโลก ร่วมติดตามและประเมินผลการดำเนินงานในการฟื้นฟูผู้ประสบภัยสึนามิในประเทศไทย
เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2550 นายศิวะ ศิริเสาวลักษณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ เป็นประธานเปิดการประชุมหารือผู้บริหารในการจัดทำระบบติดตามและประเมินผลการดำเนินงานในการฟื้นฟูหลังเหตุการณ์สึนามิ ด้วยความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลก กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และมหาวิทยาลัยมหิดล ณ โรงแรมอ่าวนางวิลล่า รีสอร์ท ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่
สืบเนื่องจากเกิดภัยพิบัติสึนามิเมื่อวันที่ 26 เดือนธันวาคม 2547 ที่ผ่านมาซึ่งเป็นภัยพิบัติธรรมชาติที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ มีประชาชนมากกว่า 275,000 คน ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว มีการช่วยเหลือผู้ประสบภัยเร่งด่วนโดยได้รับความร่วมมือของภาครัฐบาล ภาคเอกชนและองค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ แม้จะมีระดมการทำงานให้ความช่วยเหลือแทบทุกด้านแต่ก็ไม่สามารถที่จะติดตามอัตราการฟื้นฟูผู้ประสบภัยในระดับต่างๆ ทั้งภูมิภาค ระดับประเทศและในระดับท้องถิ่น ยังขาดข้อมูลเกี่ยวกับผลการดำเนินงานให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิต วิถีชีวิต เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งมีอยู่น้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความยากจนและชุมชนที่เสี่ยงภัย ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) และสหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (IFRC) และสำนักงานทูตพิเศษแห่งสหประชาชาติ(OSE) ในฐานะสมาชิกองค์การสหประชาชาติ เป็นหน่วยงานที่นำเสนอร่างแนวทางการติดตามผลการฟื้นฟูผู้ประสบภัยสึนามิ(Tsunami Recovery Impact Assessment and Monitoring System, TRIAMS ) เพื่อที่จะติดตามและประเมินผลบทเรียนที่ได้รับ การฟื้นฟู และระยะเวลาเพื่อประเมินผลอย่างต่อเนื่อง โดยจะนำข้อมูลเชิงปริมาณเพื่อสะท้อนให้เห็นความก้าวหน้าในการฟื้นฟูผู้ประสบภัย
สำหรับการประชุมทบทวนแผนปฏิบัติการและประชุมหารือผู้บริหารในการจัดทำระบบการติดตามและประเมินผลผู้ประสบภัยสึนามิ ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำระบบติดตาม และประเมินผลฟื้นฟูผู้ประสบภัยสึนามิ ใน 6 จังหวัด ของไทย คือ ระนอง ตรัง พังงา ภูเก็ต สตูล รวมทั้งจังหวัดกระบี่ ที่ยังคงขาดโอกาสได้มีความหวัง มีขวัญและกำลังใจในการสู้กับชีวิตต่อไป
|