พบผู้ป่วยไข้เลือดออกที่กระบี่แล้ว 112 ราย
นอกจากข่าวประชาสัมพันธ์ ข่าวทั่วไป ท่านสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารส่วนราชการในจังหวัด ได้จาก ประกาศจังหวัด

กระบี่ - มิสเตอร์ไข้เลือดออกจังหวัดกระบี่ เผยสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในพื้นที่น่าเป็นห่วง หลังพบการแพร่ระบาดในหลายพื้นที่แล้ว ขณะที่สถิติผู้ป่วยตั้งแต่เดือน ธ.ค.49-28 พ.ค.50 รวม 112 ราย เขตอำเภอเมืองหนักสุด 68 ราย ส่วนอำเภอลำทับยังไม่พบผู้ป่วย วอนประชาชนช่วยดูแลบ้าน กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

นายแพทย์บัญชา ค้าของ ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมป้องกัน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกระบี่ หรือมิสเตอร์ไข้เลือดออก เปิดเผยว่า จากการเฝ้าติดตามของสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในพื้นที่จังหวัดกระบี่ พบว่า จังหวัดกระบี่มียอดผู้ป่วยสะสมตั้งแต่เดือนธันวาคม 2549 จนถึงวันที่ 28 พฤษภาคม 2550 รวม 112 ราย แต่ยังไม่มีผู้เสียชีวิต

สำหรับพื้นที่ที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ อำเภอเมืองกระบี่ จำนวน 68 ราย และอำเภอที่ยังไม่มีผู้ป่วย คือ อำเภอลำทับ สำหรับพื้นที่ ที่น่าเป็นห่วง และต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ คืออำเภอเมืองกระบี่ และอำเภอเกาะลันตา ที่มีจำนวนผู้ป่วยค่อนข้างสูง เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ป่วยต่อประชากร 100,000 คน

นายแพทย์บัญชา กล่าวต่อไปว่า เมื่อดูสถานการณ์โดยภาพรวมแล้วจำนวนผู้ป่วยในปีนี้ยังน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ในช่วงเดียวกันมีที่ผู้ป่วยกว่า 200 คน ทั้งนี้ส่วนหนึ่งน่าจะมีผลจากการที่หลายหน่วยงานในจังหวัดกระบี่ จัดกิจกรรม “วันต้านภัยไข้เลือดออกกระบี่ประจำปี 2550” เมื่อวันที่ 19 เมษายน ที่ผ่านมา

แต่อย่างไรก็ตาม ไม่อยากให้ประชาชนประมาท เพราะโรคนี้ เมื่อระบาดในพื้นที่ใดแล้วจะลุกลามค่อนข้างเร็ว จึงอยากขอความร่วมมือพี่น้องประชาชน ช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธ์ลูกน้ำยุงลายบริเวณบ้านของตัวเอง โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝน ซึ่งน้ำท่วมขังได้ง่าย และเป็นช่วงที่ยุงลายแพร่พันธุ์ได้เร็ว ถ้าช่วยกันเรื่องนี้ได้การระบาดของโรคไข้เลือดออกในจังหวัดกระบี่ก็จะน้อยลงด้วยเพียงแค่ทุกคนช่วยกัน

สำหรับวิธีการป้องกันโรคไข้เลือดออกที่ดีที่สุด คือ ระวังไม่ให้ยุงกัดโดยเฉพาะเด็กๆ ซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยง ซึ่งอาการผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสังเกตได้ง่ายๆ คือ ผู้ป่วยจะมีไข้สูงลอยอยู่ประมาณ 2-7 วัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ส่วนใหญ่จะมีอาการหน้าแดง มีจุดแดงๆ ตามลำตัว แขน ขา บางรายมีอาการคลื่นไส้อาเจียน และเบื่ออาหาร

ส่วนในรายที่มีอาการรุนแรงจะกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ผู้ป่วยที่มีภาวะช็อคส่วน ใหญ่จะพูดคุยรู้เรื่อง ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษา อาจเสียชีวิตภายใน 12-24 ชั่วโมง หลังเริ่มมีภาวะช็อค

ที่มา ผู้จัดการออนไลน์ 6 มิถุนายน 2550 11:33 น.
หน่วยงานที่แจ้งประชาสัมพันธ์
สำนักงานจังหวัดกระบี่
6 มิ.ย. 50 12:56:21 PM

ข่าวอื่นๆที่เกี่ยวข้องในหมวด สาธารณสุข


แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม
ข้อตกลง  ขอความกรุณาใช้ถ้อยคำสุภาพ และแสดงออกในเชิงสร้างสรรค์ และมีเหตุผล ขอสงวนสิทธิ์ ในการแก้ไข หรือ ตัดรายการ หรือ ข้อความที่ ไม่เหมาะสมออก โดยไม่ต้องชี้แจง
ชื่อ/Email
ความคิดเห็น