ไอแท็ปเชื่อมกระบี่อัพคลัสเตอร์ปาล์มน้ำมันด้วยเทคโนไทย
นอกจากข่าวประชาสัมพันธ์ ข่าวทั่วไป ท่านสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารส่วนราชการในจังหวัด ได้จาก ประกาศจังหวัด

ทีเอ็มซี- กระทรวงวิทย์ลงใต้หอบงานวิจัยตั้งคลัสเตอร์ปาล์มน้ำมัน ผสาน ม.สงขลานครินทร์ และ จ.กระบี่ ทำแผนพัฒนาเทคโนโลยี นักวิชาการมั่นใจมีศักยภาพเพียงพอ ที่ผ่านมารอรับการสนับสนุนอย่างแห้งเหี่ยว ด้านประธานสภาอุตฯ ท้องที่ ปลื้มครั้งแรกที่มีการพัฒนาจริงจัง

‘ปาล์มน้ำมัน’ เป็นพืชน้ำมันที่สำคัญของไทยและนิยมปลูกมากในภาคใต้ โดยเฉพาะ จ.กระบี่, สุราษฎร์ธานี, ชุมพร, สตูล และบางพื้นที่ใน จ.นครศรีธรรมราช โดยกระบี่เป็นจังหวัดที่รัฐบาลผลักดันให้เป็นออยปาล์มซิตี้ หรือศูนย์กลางอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของไทย เนื่องจากเป็นแหล่งเพาะปลูกปาล์มน้ำมันมากที่สุดประมาณ 7 แสนไร่ มีผลผลิตปาล์มถึงกว่า 2 แสนต้น/ปี และยังเป็นเมืองอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันที่ครบวงจรอีกด้วย

รศ.ดร.สมชาย ฉัตรรัตนา รอง ผอ.ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ความต้องการปาล์มน้ำมันของไทยในปัจจุบันไม่เพียงแต่ใช้ในแง่การบริโภคเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งสำคัญของพลังงานทดแทน

สวทช.และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในฐานะเครือข่ายโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) จึงร่วมกับผู้ประกอบการในพื้นที่ทำการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันขึ้น โดยนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนา โดยมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นกันเพื่อจัดทำแผนการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างเป็นระบบแล้ว

รศ.คำรณ พิทักษ์ รองคณบดีฝ่ายบริการวิชาการ และการจัดการระบบคุณภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ปาล์มน้ำมันถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีศักยภาพสูงมาก สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ทั้งในรูปของผลิตภัณฑ์จากส่วนต่างๆ และให้พลังงานมากกว่าที่เห็น

แต่ที่ผ่านมาเทคโนโลยีการผลิตในอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของไทยหยุดนิ่งมานานนับสิบปี อีกทั้งเครื่องจักรและเทคโนโลยีที่ใช้อยู่เป็นการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านทั้งสิ้น ทั้งๆ ที่สามารถผลิตขึ้นเองได้ เป็นเพราะขาดแรงผลักดันและสนับสนุนอย่างเนื่อง นับเป็นอุปสรรคสำคัญในการเติบโตของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของไทย

ส่วนนายชูชัย คนซื่อ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการมากที่สุด คือ การทำงานร่วมกันทั้งงานวิจัย หรือการตอบโจทย์เพื่อสนองความต้องการของกลุ่มแบบมีส่วนร่วม โดยนำเทคโนโลยีและผู้เชี่ยวชาญของไทยเข้ามาช่วยเหลือหรือต่อยอดให้เกิดเป็นมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ใหม่ในอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อเกษตรกรในฐานะต้นน้ำที่จะได้รับการเพิ่มมูลค่าในเรื่องของพันธุ์ปาล์มที่มีคุณภาพให้ผลผลิตที่สูงขึ้น และจะส่งผลให้มูลค่าของผลิตภัณฑ์สูงขึ้นตามไปด้วย

“ครั้งนี้ถือเป็นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ที่มีการดำเนินการค่อนข้างเป็นรูปธรรมชัดเจน ตั้งแต่การพัฒนาคน การพัฒนาระบบการจัดการ รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยี และการวิจัยเพาะพันธุ์ปาล์ม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาดต่อไป” นายชูชัย กล่าว

ที่มา ผู้จัดการออนไลน์ 1 มิถุนายน 2550 00:40 น.
หน่วยงานที่แจ้งประชาสัมพันธ์
สำนักงานจังหวัดกระบี่
1 มิ.ย. 50 9:16:25 AM

ข่าวอื่นๆที่เกี่ยวข้องในหมวด เศรษฐกิจ


แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม
ข้อตกลง  ขอความกรุณาใช้ถ้อยคำสุภาพ และแสดงออกในเชิงสร้างสรรค์ และมีเหตุผล ขอสงวนสิทธิ์ ในการแก้ไข หรือ ตัดรายการ หรือ ข้อความที่ ไม่เหมาะสมออก โดยไม่ต้องชี้แจง
ชื่อ/Email
ความคิดเห็น