ท.เมืองกระบี่ จัดประชุมหารือ โครงการตามรอยประวัติศาสตร์เมืองกระบี่ ดึง อบต.ทับปริก และ อบต.ไสยไทย เข้าร่วมพลิกหน้าประวัติศาสตร์ ครั้งสำคัญของเมืองกระบี่
นอกจากข่าวประชาสัมพันธ์ ข่าวทั่วไป ท่านสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารส่วนราชการในจังหวัด ได้จาก ประกาศจังหวัด

วันที่ 14 กันยายน 2552 เวลา 10.00 น. ณ ห้องรับรอง สำนักงานเทศบาลเมืองกระบี่ เทศบาลเมืองกระบี่จัดการประชุมหารือเรื่องการดำเนินงานตามโครงการตามรอยประวัติศาสตร์เมืองกระบี่ และได้เชิญ อบต.ไสไทย นำโดยนายหราบ หง้าฝา นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ไสไทย และ อบต.ทับปริก นำโดยนายประพิศ มากสิน นายกอง๕การบริหารส่วนตำบลทับปริก เข้าร่วมในโครงการดังกล่าว เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพลิกหน้าประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของเมืองกระบี่ การประชุมร่วมกัน เพื่อหารือเกี่ยวกับการดำเนินโครงการ เนื่องด้วยพื้นที่บางส่วนของทั้ง 2 อบต. มีร่องรอยทางประวัติศาสตร์อันน่าสนใจ ซึ่งจะได้ร่วมมือกันพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและปรับปรุงพื้นที่ เตรียมความพร้อมต้อนรับนักล่ารางวัล ตามหาร่องรอยเมืองเก่า ที่คาดการณ์ว่า หลังจากเปิดตัวโครงการ ตามรอยประวัติศาสตร์เมืองกระบี่ ตามหาจุดที่ตั้งของเมืองบันไทยสมอเมือง ระบุและตรวจสอบได้ว่าเป็นที่ตั้งของเมืองเก่าจริง จะได้รับรางวัล กว่า 5 ล้านบาท ซึ่งหากมีการเปิดตัวและทำการประชาสัมพันธ์อย่างเต็มรูปแบบจะสามารถดึงดูดผู้สนใจเข้าร่วมตามหาร่องรอยเมืองเก่าและสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาศึกษาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของเมืองกระบี่ สร้างเม็ดเงินจากการท่องเที่ยว กระจายรายได้สู่พื้นที่ต่างๆ สำหรับการเปิดตัวโครงการอย่างเป็นทางการคาดว่าจะเปิดตัวโครงการอย่างเป็นทางการต้นปี 2553 นี้
นายกีรติศักดิ์ ภูเก้าล้วน นายกเทศมนตรีเมืองกระบี่ เปิดเผยว่า ด้วยจังหวัดกระบี่เดิมเป็นพื้นที่ที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนาน จากการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีต่าง ๆในจังหวัดมากมาย อาทิ การค้นพบหลักฐานไพรเมตชั้นสูง อายุทางธรณีวิทยา 37 -35 ล้านปีที่เหมืองลิกไนท์กระบี่ ภายหลังได้ชื่อว่า “สยามโมพิเทคัส อีโอซีนัส” ซึ่งถือเป็นต้นกำเนิดสายพันธุ์ที่ วิวัฒนาการมาเป็นมนุษย์ในยุคปัจจุบัน การค้นพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณ อายุ 43,000 ปี ที่เพิงผาถ้ำหลังโรงเรียนบ้านทับปริก และโครงกระดูกมนุษย์โบราณอายุ 27,000 ปี ที่ถ้ำหมอเขียว ภาพเขียนสีโบราณที่ปรากฏตามเพิงผาถ้ำต่าง ๆมากมาย ตลอดจนการขุดพบแหล่งผลิตลูกปัดโบราณที่ชุมชนคลองท่อม อายุประมาณ 2,500 – 2,000 ปี รวมทั้งการค้นพบเศษเถ้าถ่าน เมล็ดพืช กระดูกสัตว์ เศษเครื่องปั้นดินเผาเป็นจำนวนมาก จากหลักฐานทางโบราณคดีที่ค้นพบ ตั้งแต่สมัยยุคก่อนประวัติศาสตร์เรื่อยมาถึงสมัยประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นถึงร่องรอยของความเจริญในอดีต และทำให้ทราบว่าเมืองกระบี่เคยเป็นแหล่งชุมชนโบราณที่เก่าแก่มากแห่งหนึ่งของประเทศไทย คือเมืองบันไทยสมอ หนึ่งในสิบสองเมืองนักษัตริย์ที่มีตราประจำเมือง คือ ปีวอก ขึ้นกับอาณาจักรนครศรีธรรมราช โดยที่หลักฐานบางส่วนโดยเฉพาะบริเวณที่ตั้งของเมืองสูญหายไป เพื่อให้เกิดความกระจ่างชัดในประวัติศาสตร์ของเมือง เทศบาลเมืองกระบี่จึงได้จัดทำโครงการตามรอยประวัติศาสตร์เมืองกระบี่ (เมืองบันไทยสมอ) ขึ้น โดยดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 - 2555 ลักษณะการดำเนินโครงการเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนผู้สนใจ นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ตลอดจนนักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ นักวิชาการ หน่วยงานต่าง ๆ ลงพื้นที่สำรวจที่ตั้งของเมืองโบราณ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะก่อให้เกิดความตื่นตัว และความสนใจในการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเพิ่มขึ้น ตลอดจนเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลจังหวัดให้เป็นที่รับทราบในวงกว้าง ซึ่งจะส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวของจังหวัดและประเทศในภาพรวมต่อไป อีกทั้งเป็นการชำระข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดกระบี่ โดยในเบื้องต้นได้จัดตั้งเงินรางวัลไว้ 5 ล้านบาท โดยขอสนับสนุนจากองค์กรภายนอก องค์กรละ 1 ล้านบาท สำหรับการจัดการประชุมหารือในครั้งนี้ เรียกได้ว่าเป็นการประสานขอความร่วมมือจากอบต.ต่างๆ ซึ่งในพื้นที่รับผิดชอบมีการพบร่องรอยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ จะได้มีการผนึกกำลังกันพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแหล่งเรียนรู้ ศึกษาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของเมือง และเพื่อให้เกียรติ อบต. ต่างๆ ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพลิกหน้าประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของเมืองกระบี่ร่วมกับเทศบาลเมืองกระบี่ต่อไป

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองวิชาการ 075-620604 , PR รัตติกาล ( เจ ) 089-652-2862
หน่วยงานที่แจ้งประชาสัมพันธ์
เทศบาลเมืองกระบี่
16 ก.ย. 52 2:47:48 PM

ข่าวอื่นๆที่เกี่ยวข้องในหมวด ศิลปวัฒนธรม


แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม
ข้อตกลง  ขอความกรุณาใช้ถ้อยคำสุภาพ และแสดงออกในเชิงสร้างสรรค์ และมีเหตุผล ขอสงวนสิทธิ์ ในการแก้ไข หรือ ตัดรายการ หรือ ข้อความที่ ไม่เหมาะสมออก โดยไม่ต้องชี้แจง
ชื่อ/Email
ความคิดเห็น